ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่ ได้แก่ การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน โดยเฉพาะการขยายพื้นที่เกษตร และการปลูกสร้างรีสอร์ทหรือบ้านพักตากอากาศ การเกิดไฟป่ารุนแรงที่เริ่มเป็นปัญหากับระบบนิเวศภูเขาอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะการเกิดไฟป่าบนดอยเชียงดาว ที่ลุกลามขึ้นสู่บริเวณยอดสูงที่เป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งไม่มีวิวัฒนาการการปรับตัวกับไฟป่า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ความรุนแรงของไฟป่าส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ และการทำเหมืองแร่

การดำเนินงานที่ผ่านมา

ระบบนิเวศภูเขาส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองในระดับชาติ ในรูปแบบอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และมีการขึ้นบัญชีรายชื่อทั้งเป็นพื้นที่พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก และพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งด้านความหลากหลายของพืช จากข้อมูลการกระจายตัวของแหล่งธรรมชาติประเภทภูเขาในประเทศไทย พบว่า ในจำนวนภูเขา 974 แห่งของประเทศไทย มีภูเขาที่เป็นอุทยานแห่งชาติ 206 แห่ง อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล 689 แห่ง และเป็นพื้นที่อื่น ๆ เช่น สวนรุกขชาติ สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ กรมศิลปากร และวัด ฯลฯ 79 แห่ง โดยมีแหล่งธรรมชาติประเภทภูเขา จำนวน 36 แห่ง ที่ได้มีการประกาศเป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2532

จากความสำคัญของระบบนิเวศภูเขาในการเป็นป่าต้นน้ำและยังเป็นที่ตั้งของชุมชนหลายแห่งสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงน้อมนำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโครงการป่ารักน้ำมาเป็นหลักการให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สสอ.) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2560 การดำเนินกิจกรรม สสอ. ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำทั่วประเทศ 52 จังหวัด รวม 1,534 หมู่บ้าน สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะบริเวณป่าต้นน้ำได้

ด้านการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าดิบเขา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทดลองปลูกป่าร่วมกับชุมชนหมู่บ้านแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เทคนิคพรรณไม้โครงสร้าง มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูป่า ส่งผลให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำสะอาด และเพิ่มที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่า เทคนิคการฟื้นฟูป่าดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่อื่น ๆ ในภาคเหนือผ่านโครงการของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์อีกด้วย ใน พ.ศ. 2557 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีโครงการจัดทำมาตรฐานหรือเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติประเภทภูเขา เพื่อการเตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจมีต่อระบบนิเวศ เพื่อให้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแนวทาง มาตรการการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ประเภทภูเขา เพื่อการเตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจมีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียหน้าที่ของระบบนิเวศ ได้แก่ การลักลอบล่าสัตว์ป่า การทำไม้และการเก็บหาของป่า ตลอดจนกิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ยังเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสืบพันธุ์ของพืชบริเวณรอยต่อของป่าเต็งรังและป่าดิบเขาระดับต่ำ ในขณะที่ชนิดพืชผลัดใบในป่าดิบเขาระดับต่ำอาจลดประชากรลงในบริเวณเดิมและอาจถอยร่นขึ้นสูงระดับที่สูงไปเรื่อย ๆ ปรากฏการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมพืชที่อยู่บนยอดสูงสุดของภูเขา ซึ่งประกอบด้วยพืชถิ่นเดียวหลายชนิด สังคมพืชบนยอดภูเขาจะไม่สามารถถอยร่นไปไหนได้อีก และถูกแทนที่ด้วยสังคมพืชด้านล่างในที่สุด ส่งผลให้พืชถิ่นเดียวเหล่านั้นอาจสูญพันธุ์ได้ในอนาคต การสำรวจในพรุอ่างกาหลวง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดรายปีและค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดรายปี เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อพรรณไม้เดิมที่เป็นพรรณไม้ป่าดิบเขาสูง เช่น กุหลาบพันปี (Rhododendron arboretum) เทียนคา (Impatiens longiloba) และเทียนรัศมี (Impatiens radiate) ที่ต้องการอากาศที่หนาวเย็นและมีความชื้นในอากาศสูงมีอัตราการเจริญเติบโตและการกระจายพันธุ์ลดลง