ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่ ได้แก่ การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน และการเกิดไฟป่าที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไฟป่าจึงมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ทำให้ระบบนิเวศที่มีความเปราะบางถูกทำลาย

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียหน้าที่ของระบบนิเวศ ได้แก่ การเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ของมนุษย์ทำให้เกิดการกัดเซาะหน้าดิน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในที่ต่ำและแหล่งน้ำ การขุดเอาดินลูกรังไปใช้ประโยชน์ในการถมที่และการสร้างทาง การลักลอบล่าสัตว์ป่า การเลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยที่อาจนำมาซึ่งปัญหาโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงไปสู่สัตว์ป่าในกลุ่มสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน การทำไม้และการเก็บหาของป่า ตลอดจนกิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสม

การดำเนินงานที่ผ่านมา

การอนุรักษ์และคุ้มครองระบบนิเวศพื้นที่แห้งแล้งและกึ่งชื้นส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เนื่องจากระบบนิเวศนี้ยังมีการศึกษาไม่มากนัก ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศนี้จึงมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตามพื้นที่คุ้มครองที่ประกอบด้วยระบบนิเวศแห้งแล้งและกึ่งชื้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นทั้งพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก และพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งด้านความหลากหลายของพืช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่พื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งด้านความหลากหลายของพืช นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2548 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์นกในพื้นที่ตัวแทนระบบนิเวศแห้งแล้งกึ่งชื้น คือ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร (ภูผาเทิบ) ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการคุ้มครองความหลากหลากหลายทางชีวภาพได้