เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ความหลากหลายทางชีวภาพมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสองเป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มหาสมุทรและทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน (SDG 14: Life below water) และเป้าหมายที่ 15 การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน (SDG 15: Life on land) ทั้งนี้ ระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเลนับเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยถือเป็นพื้นฐานของ SDGs ทั้งหมด ดังนั้น การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ SDG 14 และ 15 ยังมีความสัมพันธ์กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายอื่นอีกด้วย โดยจากภาพสีน้ำเงินแสดงถึงผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) ระหว่าง SDG 14 และ 15 กับ SDG เป้าหมายอื่น ๆ ส่วนสีแดงคือความสัมพันธ์ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน (trade-off) ระหว่าง SDG 14 และ 15 กับ SDG เป้าหมายอื่น ๆ
เช่น SDG2 ขจัดความหิวโหย มีความเกี่ยวข้องกับ SDG 14 และ 15 โดยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางอาหาร กล่าวคือ พื้นฐานของระบบการผลิตอาหารทั้งหมดขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของความหลากหลายทางชีวภาพและบริการระบบนิเวศ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน คุณภาพน้ำและผู้ผสมเกสร ทั้งนี้ ระบบการผลิตอาหารอย่างไม่ยั่งยืนอาจต้องแลกกับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ