ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแแผ่นดิน
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ให้คำนิยาม “แหล่งน้ำในแผ่นดิน” โดยอ้างอิงคำจำกัดความของ พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (ในมาตรา 1.1 และมาตรา 2.1 ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ) ว่าหมายถึง “ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง หรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร”
ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน หมายถึง พื้นที่ชุ่มน้ำน้ำจืดที่ประกอบไปด้วย แหล่งน้ำไหล (เช่น แม่น้ำ ลำธาร ลำห้วย คลอง ที่ราบน้ำท่วมถึง) ทะเลสาบหรือบึง และที่ลุ่มชื้นแฉะหรือหนองน้ำ ที่ลุ่มที่มีน้ำขังบางฤดูกาล ป่าพรุ ป่าบุ่งป่าทาม ตลอดจนแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น นาข้าว บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่ชลประทาน อ่างเก็บน้ำ และคลองที่ขุดขึ้น
ลักษณะพื้นที่
ประเทศไทยมีระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจำนวนประมาณ 41,847 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 17,432 ตารางกิโลเมตร หรือ 10.9 ล้านไร่ ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน แบ่งย่อยได้เป็น 3 ประเภท คือ
- แหล่งน้ำไหล (Riverine) ได้แก่ แม่น้ำ ลำธาร ลำคลอง ลำห้วย ที่มีน้ำไหลตลอดปี หรือ น้ำไหลบางฤดู ฝั่งแม่น้ำหรือหาดแม่น้ำ หรือสันทราย หมายรวมถึงที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำ ได้แก่ ทุ่งหญ้าหรือพรุหญ้า ป่าพรุ บริเวณรอบ ๆ แม่น้ำที่มีน้ำท่วมขังเป็นบางครั้งบางคราว เช่น แอ่งน้ำ วังน้ำในแม่น้ำ ทุ่งน้ำจืด
- ทะเลสาบหรือบึง (Lacustrine) ได้แก่ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ที่มีน้ำขังตลอดเวลา หรือบางฤดู และมีกระแสน้ำไหลเล็กน้อย มีความลึกมากกว่า 2 เมตร และมีพืชน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของผิวน้ำ เช่น ทะเลสาบ บึงต่าง ๆ
- ที่ลุ่มชื้นแฉะ หรือ หนองน้ำ (Palustrine) ได้แก่ พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลาหรือบางฤดูมีความลึกไม่เกิน 2 เมตร และมีพืชน้ำปกคลุมมากกว่าร้อยละ 30 ของผิวน้ำ ได้แก่ ที่ลุ่มชื้นแฉะ (Marsh) ที่ลุ่มสนุ่น หนองน้ำซับ (Bog) ที่ลุ่มน้ำขัง (Swamp) เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน หรือพื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินกระจายอยู่มากที่สุด คือ 14,750 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 1,999.53 ตารางกิโลเมตร รองลงมา ได้แก่ ภาคกลางและภาคตะวันออก 11,365 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,685.61 ตารางกิโลเมตร ภาคเหนือ 10,573 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,821.25 ตารางกิโลเมตร และภาคใต้ 4,709 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 8,952.335 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินแสดงให้เห็นว่า ในระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา พื้นที่แหล่งน้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มเนื้อที่เพิ่มมากขึ้นจาก 5,107,883 ไร่ ใน พ.ศ. 2543 เป็น 9,373,612 ไร่ ใน พ.ศ. 2561 ขณะที่พื้นที่ลุ่ม (จากนิยามของกรมพัฒนาที่ดิน หมายถึง ดินที่เกิดอยู่ในบริเวณพื้นที่ต่ำ มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ หรือค่อนข้าง ราบเรียบ มักจะมีระดับน้ำใต้ดินตื้น มีน้ำท่วมขังที่ผิวดินในฤดูฝน ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการทำนา) ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินมีแนวโน้มเนื้อที่ลดลงจาก 1,982,268 ไร่ ใน พ.ศ. 2543 เหลือ 1,465,691 ไร่ ใน พ.ศ. 2561