ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่ ได้แก่ การบุกรุกถือครองและใช้ประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ การปรับเปลี่ยนระบบนิเวศจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ นอกจากนี้แหล่งน้ำในแผ่นดินที่มีดินพีทเป็นองค์ประกอบ เช่น ป่าพรุ ยังได้รับผลกระทบจากไฟป่าด้วย การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน อุณหภูมิ และความชื้น จากการเปลี่ยนแปลงหรือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศก็อาจจะมีส่วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าได้ ส่งผลให้ระบบนิเวศนี้ถูกทำลายและเปลี่ยนสภาพไป

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียหน้าที่ของระบบนิเวศ ได้แก่ การออกแบบระบบชลประทานที่ไม่เอื้อต่อการอพยพโยกย้าย การทำรัง การวางไข่ การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงการทำประมงด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย และไม่ยั่งยืน การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเกิดมลพิษจากชุมชนเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม การแพร่ระบาดของพืชและสัตว์ต่างถิ่น เช่น ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ หอยเชอรี่ การปล่อยปลาต่างถิ่นในแหล่งน้ำต่าง ๆ การลักลอบล่าสัตว์ และกิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยว

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังทำให้การเติบโตและการรุกรานของพืชต่างถิ่นในเขตร้อนขยายกว้างมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่นที่อาศัยอยู่เดิมและเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำ ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทำให้น้ำระเหยจากพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น ปริมาณฝนที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาพตื้นเขิน มีน้ำเฉพาะบางฤดู ฤดูแล้งน้ำแห้ง ทำให้ปลา สัตว์น้ำ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ หรือต้องย้ายถิ่นที่อยู่ โดยเฉพาะชนิดที่ต้องพึ่งพิงอาศัยริมฝั่งน้ำ นกน้ำอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ล่าช้ากว่าปกติ และอพยพออกจากพื้นที่ไวกว่าปกติ พื้นที่ผิวของพื้นที่ชุ่มน้ำและปริมาณน้ำที่ลดลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) หรือการเติบโตในปริมาณมากของสาหร่ายและพืชน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง

ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมด้วย ภาวะน้ำท่วมในแต่ละปี มีผลต่อสมดุลน้ำของพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น บึงบอระเพ็ด ทำให้ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเกิดการฟื้นฟู ความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำและปริมาณทรัพยากรประมงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามที่ภาวะน้ำท่วมก็จะมีผลต่อการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน เช่น ไมยราบยักษ์ เพราะอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นตามระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

เขื่อนและการจัดการน้ำก็เป็นภัยคุกคามที่กำลังส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ดังนี้

  • การปิดกั้นเส้นทางปลา ซึ่งในจำนวนกว่า ๑,๒๐๐-๑,๗๐๐ ชนิดพันธุ์ของปลาแม่น้ำโขง ร้อยละ ๓๙ ของปลาที่จับได้เป็นปลาที่มีวงจรชีวิตต้องอพยพทางไกล 
  • การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำทั้งปริมาณและช่วงเวลา ปริมาณการไหลและการขึ้นลงอย่างผิดธรรมชาติจะส่งผลถึงการทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำและพันธุ์ปลา การกัดเซาะตลิ่ง ทำลายพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย การใช้น้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคอย่างน้ำประปา การเปลี่ยนร่องน้ำและเส้นพรมแดน
  • การปิดกั้นตะกอน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศ พื้นที่ริมฝั่ง และการเกษตรริมฝั่งโขง

การดำเนินงานที่ผ่านมา

ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 สิงหาคม 2543 และ 3 พฤศจิกายน 2552 ได้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในแต่ละภาค แบ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติจำนวน 47 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดิน 43 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91 ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนความสำคัญระดับชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติจำนวน 69 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินจำนวน 40 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 58 ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนความสำคัญระดับนานาชาติ

จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ได้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 (เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุมน้ำ) ข้อ 10 เป็น “ให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) สำหรับโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ที่ออกตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535” ทั้งนี้ได้มีการมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อประเภทและขนาดของโครงการพัฒนาที่ไม่เข้าข่ายเป็นโครงการต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 แต่มีความล่อแหลมและเป็นอันตราย อาจส่งผลกระทบเสียหายต่อพื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่มเติม รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) หรือมาตรการอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดิน 7 แห่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล 8 แห่ง ได้รับการคุ้มครองอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 9 แห่ง และอยู่ในพื้นที่ชุมชนและ/หรือที่สาธารณะ รวม 6 แห่ง ซึ่งแม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 15 ของประเทศไทยใน พ.ศ. 2562

ลำดับที่ของประเทศลำดับที่ของโลกแรมซาร์ไซต์วันที่ขึ้นทะเบียน
1948พรุควนขี้เสียน13/05/2541
21098เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง05/07/2544
31099ดอนหอยหลอด05/07/0544
41100ปากแม่น้ำกระบี่05/07/0544
51101เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย05/07/2544
61102เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ
(พรุโต๊ะแดง)
05/07/2544
71182อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง 14/08/2545
81183อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำ
กระบุรี
14/08/2545
91184อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะอ่างทอง14/08/2545
101185อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา14/08/2545
112238อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด08/01/2551
121926กุดทิง19/06/2552
132152เกาะกระ12/08/2556
142153เกาะระ-เกาะพระทอง12/08/2556
152420แม่น้ำสงครามตอนล่าง15/05/0562

ในส่วนของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เห็นชอบในหลักการการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จากเดิม 4 มาตรการ 15 แนวทางปฏิบัติ เป็น 5 มาตรการ 22 แนวทางปฏิบัติ และได้กำหนดให้มีแนวทางปฏิบัติในการควบคุมหรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นและชนิดพันธุ์สัตว์ต่างถิ่น) ที่มีลำดับความสำคัญสูงของประเทศไทยแยกออกเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้มีการปรับปรุงทะเบียนรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรควบคุม ป้องกัน และกำจัด จากทะเบียนรายการเดิมใน พ.ศ. 2552 ที่มีจำนวน 273 ชนิด ปรับปรุงเป็นจำนวน 323 ชนิด ซี่งได้เพิ่มการจำแนกชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจออกมาให้ชัดเจนว่าสามารถขยายพันธุ์ ขยายถิ่นที่เพาะเลี้ยง และแจกจ่ายพันธุ์ได้แต่ต้องมีมาตรการป้องกันเฉพาะที่รัดกุม เพื่อมิให้เกิดการแพร่กระจายเข้าไปในเขตพื้นที่อนุรักษ์

ในช่วง พ.ศ. 2561-2562 รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศโดยจัดตั้ง 4 เสาหลักในการบริหารจัดการน้ำขึ้นมา ประกอบด้วย เสาหลักที่หนึ่ง แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เสาหลักที่สอง การจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป็นเลขานุการ รวมถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำอีก 22 คณะ ที่มี สทนช. ภาค เป็นเลขานุการ เสาหลักที่สาม พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 และเสาหลักที่สี่ ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และผลงานวิชาการมาใช้ขับเคลื่อนแผนแม่บททรัพยากรน้ำ

แม้ว่าระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดินส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองในระดับชาติ ในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรประมงของประเทศไทย พบว่า กรมประมงมีมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวด 5 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และใน พ.ศ. 2560 ได้มีการออกพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง ให้สอดคล้องกับข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า และข้อมูลด้านการประมงที่เป็นปัจจุบัน เพื่อบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ รักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืน