ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตของระบบนิเวศเกาะ

เกาะเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายหลายทางชีวภาพ โดยชนิดพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัยในเกาะ อาจล่องลอยมากับกระแสน้ำ เกิดการแยกตัวของเกาะกับแผ่นดินใหญ่ หรือโดยการแพร่กระจายข้ามมหาสมุทรเข้ามาอยู่บนเกาะที่โผล่ขึ้นใหม่จากพื้นท้องมหาสมุทร (เกาะกลางมหาสมุทร) ชนิดพันธุ์ส่วนใหญ่จึงถูกจำกัดอยู่บนพื้นที่เล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ เมื่อผ่านไปในระยะเวลาหนึ่ง จึงก่อให้เกิดการวิวัฒนาการ โดยเป็นชนิดพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ทั้งหมดและมีการปรับตัวต่างไปจากปกติ เช่น มีขนาดยักษ์ แคระแกรน ไม่สามารถบินได้ สูญเสียกลไกการป้องกันตัวและการแพร่กระจาย ความหลากหลายทางพันธุกรรมและขนาดประชากรมักมีแนวโน้มถูกจำกัด ให้ชนิดพันธุ์อยู่กันแน่นหนาในพื้นที่จำกัดขนาดเล็กอยู่เสมอ ชนิดพันธุ์ ดังนั้น เกาะจึงเป็นพื้นที่ที่รวบรวมชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิดมากที่สุด จึงถูกจัดให้เป็นพื้นที่วิกฤติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity hotspots

เกาะในฝั่งอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นเกาะขนาดเล็กที่มีสันเขาหินปูนเป็นแกนหลักของเกาะ มีสังคมพืชตามสันเขาหินปูนเป็นสังคมเด่น รองลงมาเป็นป่าดิบแล้ง ส่วนเกาะในฝั่งทะเลอันดามันบางเกาะมีลักษณะเป็นหินแกรนิต ซึ่งมักพบป่าดิบแล้ง โดยบริเวณรอบ ๆ เกาะสามารถพบป่าชายเลน ป่าชายหาด กระจายอยู่ ทั้งนี้ ลักษณะระบบนิเวศของระบบนิเวศเกาะ มีความแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบของโครงสร้างป่าและองค์ประกอบชนิดพันธุ์พืชในแต่ละชนิด ซึ่งระบบนิเวศเกาะ สามารถแบ่งออกตามลักษณะของสังคมพืชเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • ป่าชายเลน คือ ระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หลายชนิด ดำรงชีวิตร่วมกัน ในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ และอาจแห้งเมื่อน้ำทะเล ลดระดับลง ลักษณะของดินเป็นโคลน
  • ป่าชายหาด คือ ระบบนิเวศที่พบตามชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดทราย มีพืชพรรณไม้ขึ้นเป็นแนวแคบ หรือกระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ซึ่งเป็นป่าที่ปกคลุมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่ดินเป็นดินทรายน้ำทะเลท่วม ไม่ถึงหรือบริเวณหาดทรายเก่าที่ยกตัวสูงขึ้น หรือบริเวณที่หินชิดฝั่งทะเล
  • ป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น คือ ระบบนิเวศที่พบตามแนวลำน้ำที่พบได้กระจายทั่วไปตั้งแต่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยพื้นที่ป่าดิบแล้งเป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างราบหรือตามหุบเขา มีความชุ่มชื้นน้อย อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-600 เมตร ส่วนป่าดิบชื้นเป็นป่าที่เขียวชอุ่มตลอดปี พบการกระจายตั้งแต่ความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก พบมากที่สุดในแถบชายฝั่งภาคตะวันออก
  • ป่าพรุ เป็นป่าที่อยู่ในภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ หรือมีสภาพเป็นแอ่งน้ำจืดขัดติดต่อกันเป็นระยะเวลาตลอดทั้งปี และมีการสะสมของชั้นอินทรียวัตถุหรือดินอินทรีย์ในสภาวะที่มีน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ ยังมีป่าพรุ-เสม็ด ซึ่งเป็นป่าพรุที่มีการสะสมของชั้นอินทรีย์น้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีน้ำท่วมขัง จึงมีพรรณไม้จากป่าข้างเคียงขึ้นปะปน โดยมีไม้เสม็ดขาวเป็นชนิดพันธุ์เด่น แล้วยังพบไม้ประเภทหลัก คือ พืชตระกูลปาล์ม สาคู กระบุย มะฮังเล็ก มะฮังใหญ่ หว้านา หว้าหิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสามารถพบสังคมพืชบริเวณหินผาชายทะเล (Coastal cliff vegetation) บริเวณแนวชายขอบของเกาะที่มีลักษณะเป็นหน้าผาหินสูงชัน ซึ่งเกิดจากคลื่นและลมที่พัดกระแทกอย่างรุนแรงและชั้นดินที่ตื้นในบริเวณที่มีความลาดชันมาก เกิดเป็นหน้าผา หรือลานหินเปิดโล่ง ไม้ต้นและไม้พุ่มจะขึ้นกระจายเป็นกลุ่ม ลักษณะลำต้นมีกิ่งก้านคดงอ แตกเป็นพุ่มเตี้ย มีกิ่งตายและพุ่มใบโปร่งบาง

จะเห็นได้ว่า ระบบนิเวศเกาะ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ ซึ่งในพื้นที่หนึ่งเกาะ เปรียบเสมือนกับระบบนิเวศบกอีกระบบนิเวศหนึ่ง แต่ถูกจำกัดด้วยลักษณะทางภูมิศาสาตร์ ทำให้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ ชนิดพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่เกิดจากการล่องลอยมากับกระแสน้ำ หรือแพร่กระจายโดยข้ามมหาสมุทรเข้ามาอยู่บนเกาะ และเกิดการวิวัฒนาการที่ต่างจากปกติ จึงเป็นสาเหตุสำคัญชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ค่อนข้างมีปริมาณน้อย มีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นที่โดดเด่น และมีความหลากหลายทางชีวภาพภายในเกาะอยู่ ในระดับสูง ซึ่งจากการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเกาะของประเทศไทย มีดังนี้

  • เกาะแสมสาร เป็นเกาะที่มีสังคมพืชทะเล ประกอบด้วย พืชป่าชายหาด พืชป่าชายเลน พืชป่าดิบแล้ง สังคมพืชหน้าผา และสังคมพืชป่ารุ่น ซึ่งด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศนี้จึงพบสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายในพื้นที่ จากการสำรวจสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ พบสิ่งมีชีวิตในพื้นที่จำนวน 220 ชนิด โดยพบลักษณะของร่องแต่ละด้านของเกาะแสมสารมีความกว้าง ความลึก ความเร็วของกระแสน้ำที่แตกต่างกัน ส่งผลให้สภาพนิเวศมีความแตกต่างก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ โดยมีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ กล้วยไม้นารีช่องอ่างทอง (Paphiopedilum niveum) และมีชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ คือ นกเงือกดำ (Anthracoceros malayanus) สถานภาพใกล้ถูกคุกคาม เช่น นกออก (Haliaeetus laucogaster) นกลุมพูขาว (Ducula bicolor)
  • เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง มีระบบนิเวศโดดเด่น คือ มีผืนหญ้าทะเลพื้นที่ โดยกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่พบ คือ สัตว์ทะเลกลุ่มครัสเตเชียน จำนวน 30 ชนิด เช่น กุ้งดีดขัน (Alpheus spp.) ปูหนุมานหกตุ่ม (Ashtoret lunaris) ปูม้า (Portunus pelagicus) ปลา จำนวน 212 ชนิด เช่น ฉลามกบ (Chiloscyllium grisium) กระเบนแมลงวันจุดขาว (Himantura gerrardi) ปลาอมไข่ (Apogonidae) ปลาหางแข็ง (Carangidae) ปลาบู่ (Gobiidae) ปลากระบอก (Mugilidae) ปลาสาก (Sphyraenidae) เป็นต้น
  • เกาะช้าง พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบทั้งหมด 29 ชนิด ได้แก่ หมูป่า เก้ง ลิงเสน ค่างหงอก ชะมดเช็ด พังพอนธรรมดา และค้างคาวกระรอก เป็นต้น นอกจากนี้ พบนกทั้งหมด 74 ชนิด เป็นนกประจำถิ่นไม่อพยพย้ายถิ่นจำนวน 61 ชนิด ได้แก่ นกยางทะเล นกปรอดหน้านวล นกตบยุง นกนางแอ่นแปซิฟิก นกกวัก และนกแก๊ก เป็นต้น ในขณะที่นกอพยพเข้ามาประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว มีจำนวน 8ชนิด ได้แก่ นกยางเขียว นกหัวโตทรายใหญ่ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว นกน็อตตี้ นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกกระจิ๊ดขาสีเนื้อ นกกระจิ๊ดขั้วโลกเหนือ และนกนางแอ่นบ้าน นอกจากนี้ ยังพบนกอพยพเพื่อการผสมพันธุ์ 2 ชนิด คือ นกแต้วแล้วอกเขียว และนกแต้วแล้วธรรมดา และนกอพยพผ่านในฤดูกาลอื่น ๆ 3 ชนิด คือ นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว นกจับแมลงคอสีน้ำเงินเข้ม และนกกระจี๊ดหัวมงกุฎ ส่วนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานพบจำนวนรวม 42 ชนิด ได้แก่ ตะพาบน้ำ ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูสิง งูจงอาง และกบเกาะช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นในป่าดงดิบบริเวณ
    เกาะช้างและเกาะใกล้เคียง
  • หมู่เกาะระ-เกาะพระทอง พบสัตว์ทะเลกลุ่มมอลลัส 23 ชนิด แบ่งเป็นหอย 22 ชนิด หมึก 1 ชนิด สัตว์ทะเลกลุ่มครัสเตเชียน 37 ชนิด แบ่งเป็นปู 32 ชนิด กั้ง 5 ชนิด และสัตว์ทะเลกลุ่มปลา 294 ชนิดซึ่งเป็นปลากระดูกอ่อนกลุ่มฉลามและกระเบน 11 ชนิด เช่น ฉลามหูดำ (Carcharhinus melanopterus) ฉลามหัวฆ้อน (Sphyrna lewini) ฉลามกบ (Chiloscyllium spp.) ปลาโรนัน (Rhinobatos schlegelii) กระเบนปากแหลม (Dasyatis zugei) กระเบนแมลงวัน (Himantura imbricata) เป็นต้น
  • หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะนกที่พบมากกว่า 80 ชนิด โดยพบนกชาปีไหน ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์นกหายาก และถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ บริเวณพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ยังพบแนวปะการังริมฝั่ง หรือที่ fringing reef โดยมีปะการังที่พบได้มาก ได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ปะการังโขดหรือปะการังนิ้วมือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งของสัตว์ทะเลหายาก เช่น ฉลามวาฬ วาฬ และเต่าทะเล ซึ่งพบ 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า
  • เกาะโลซิน เกาะโลซินมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่โผล่พ้นน้ำทะเลขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของแนวปะการัง ทั้งปะการังแข็งและปะการังอ่อนเกือบทุกชนิด นอกจากนี้ ยังพบสิ่งมีชีวิตทั้งกลุ่มเอคไคโนเดิร์ม ปลาประมาณ 226 ชนิด หอยฝาเดียว 39 ชนิด หอยสองฝา 15 ชนิด ทากเปลือย 12 ชนิด แพลงก์ตอน 51 ชนิด เพรียงหัวหอม 3 ชนิด สาหร่าย ฟองน้ำ 22 ชนิด โดยพบสัตว์ทะเลหายาก เช่น ฉลามวาฬ พบฝูงปลากะมงตาโต Bigeye trevally (Caranx sexfasciatus) ซึ่งพบในพื้นที่ที่มีแนวประการังที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดของแนวปะการังในพื้นที่ของเกาะโลซินได้ว่ายังคงเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์