ระบบนิเวศภูเขา

ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ให้คำนิยาม “ภูเขา” หมายถึง พื้นที่ที่มี
ภูมิประเทศเป็นที่สูงหรือลาดชัน มีภูมิอากาศที่หลากหลาย ประกอบด้วย ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น/ชนิดพันธุ์พื้นเมืองค่อนข้างสูง มีระดับความเปราะบางสูงและความห่างไกลมาก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2557) ให้ความหมายของระบบนิเวศภูเขา หมายถึง พื้นที่ที่อยู่ในระดับสูงที่มีปัจจัยแวดล้อมหนาวเย็นอันเนื่องมาจากความสูงจากระดับน้ำทะเล บางฤดูกาลมีเมฆหมอกปกคลุมเกือบตลอดเวลา จึงมีความชื้นในอากาศสูงและมีปริมาณน้ำฝนรายปีค่อนข้างมาก ชนิดพืชและสัตว์แสดงออกถึงการปรับตัวให้สัมพันธ์กับสภาพปัจจัยแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นพิเศษดังกล่าว เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของโลก สำหรับประเทศไทย ได้แก่ สังคมพืชที่เป็นป่าดงดิบเขาที่มีระดับความสูงเกินกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลโดยประมาณ

ลักษณะพื้นที่
ระบบนิเวศภูเขาเป็นระบบนิเวศที่มักจะมีความทับซ้อนกับระบบนิเวศป่าไม้ อย่างไรก็ตามระบบนิเวศภูเขาในประเทศไทยเป็นระบบนิเวศที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ดังกล่าวพบว่าระบบนิเวศภูเขาในประเทศครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 150,322.45 ตารางกิโลเมตร หรือ 93.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.3 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยระบบนิเวศภูเขากระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการศึกษาของ สุระ และปรัช (2561) พบว่า จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ระบบนิเวศภูเขาทั้งหมด 6,813.44 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 31.84 ของพื้นที่จังหวัด) และ 2,816.94 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 22.13 ของพื้นที่จังหวัด) ตามลำดับ ระบบนิเวศภูเขา ประกอบด้วย แหล่งธรรมชาติประเภทภูเขาที่มีลักษณะธรณีสัณฐานต่าง ๆ ทั้งภูเขาหินปูน ภูเขาหินแกรนิต ภูเขาหินทราย และลักษณะทางชีวภาพที่มีความแตกต่างกันตามปัจจัยทางด้านกายภาพ จึงเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญของประเทศ เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำตาปี แม่น้ำมูล แม่น้ำชี เป็นต้น การเสื่อมสภาพของระบบนิเวศภูเขาจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำ ความมั่นคงทางอาหารและผลผลิตที่ได้จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศภูเขา