Just another WordPress site

กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ

กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
(Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) หรือ Biodiversity Plan

กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM – GBF) ได้ถูกรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (CBD COP15 Part 2) เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 สำหรับเป็นแผนการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อนำไปสู่การบรรลุ พันธกิจ ค.ศ. 2030 (2030 Mission ) และวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050 ให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ หรือ Living in Harmony with Nature และหนึ่งปีต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 สำนักเลขาธิการ CBD ได้เผยแพร่โลโก้ The Biodiversity Plan’ หรือ ‘แผนงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก’ เพื่อใช้สื่อสารและเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับ KM-GBF

วิสัยทัศน์ปี ค.ศ. 2050
(2050 vision)

วิสัยทัศน์ของกรอบงานฯ กำหนดให้ประชาคมโลกมีชีวิตทีดีควบคู่ไปกับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์
“ภายในปี ค.ศ. 2050 ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการประเมินคุณค่า อนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด
รักษาบริการจากระบบนิเวศ โลกมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และส่งผ่านผลประโยชน์ที่สำคัญให้แก่ประชาชนทุกคน”

เป้าประสงค์ ค.ศ. 2050 (Global goals for 2050)

กรอบงานฯ ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ระยะยาว สำหรับปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2050

เป้าประสงค์ A (Goal A)
เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกระบบนิเวศ
เป้าประสงค์ B (Goal B)
ดํารงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ
เป้าประสงค์ C (Goal C)
แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
เป้าประสงค์ D (Goal D)
แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางดําเนินงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ ปี 2050

พันธกิจปี ค.ศ. 2030
(2030 mission)

พันธกิจของกรอบงานฯ กำหนดขึ้นสำหรับช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050 คือ เร่งดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและนำความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนมา เพื่อให้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนและโลก
โดยการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม
อย่างยุติธรรมและเท่าเทียมด้วยวิธีการดำเนินงานที่จำเป็นและเหมาะสม

23 เป้าหมาย ค.ศ. 2030 (23 Global Targets for 2030) คือเป้าหมายที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนภายใน ปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้ผลการดำเนินงานนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกันตามเป้าประสงค์ ค.ศ. 2050 โดยกิจกรรมภายใต้แต่ละเป้าหมายควรมีการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและพิธีสารภายใต้อนุสัญญาฯ และพันธกรณีระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนสถานการณ์ประเทศ ลำดับความสำคัญและเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยแบ่ง 23 เป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มการดำเนินงาน

  • กลุ่มที่ 1 (เป้าหมายที่ 1 – 8)
    ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Reducing threats to biodiversity)
  • กลุ่มที่ 2 (เป้าหมายที่ 9 – 13)
    การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน (Meeting people’s needs through sustainable use and benefit-sharing)
  • กลุ่มที่ 3 (เป้าหมายที่ 14 – 23) เครื่องมือการแก้ปัญหาการดําเนินงานและการผลักดันให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นกระแสหลัก (Tools and solutions for implementation and mainstreaming)

Target 1
เป้าหมายที่ 1
การบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในการวางแผนเชิงพื้นที่
(Plan and Manage all Areas To Reduce Biodiversity Loss)

มั่นใจว่า ทุกพื้นที่จะมีการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในแผนเชิงพื้นที่และ/หรือกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและทะเล ลดการสูญเสียพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลาย
ทางชีวภาพสูงและการสูญเสียระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์สูงให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยต้องให้
ความเคารพในสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

Target 2
เป้าหมายที่ 2
ฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก แหล่งน้ำในแผ่นดินและทะเลและชายฝั่ง อย่างน้อย 30%
(Restore 30% of all Degraded Ecosystems)

มั่นใจว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่บนบก แหล่งน้ำในแผนดิน พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งที่มี
ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จะได้รับการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ บทบาทหน้าที่
และบริการจากระบบนิเวศ รวมถึงเพิ่มความสมบูรณ์และการเชื่อมต่อทางนิเวศวิทยา

Target 3
เป้าหมายที่ 3
เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งบนบก แหล่งน้ำในแผ่นดิน ทะเลและชายฝั่งและพื้นที่ OECMs อย่างน้อย 30%
(Conserve 30% of Land, Waters and Seas)

มั่นใจและทำให้เป็นไปได้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่บนบก พื้นที่แหล่งน้ำในแผ่นดิน
พื้นที่ทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่
และบริการจากระบบนิเวศ จะได้รับการอนุรักษ์และจัดการในรูปแบบพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่ที่มีมาตรการอื่น ๆ ด้านการอนุรักษ์
อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการในพื้นที่ที่เป็นตัวแทนทางนิเวศวิทยา มีการเชื่อมต่อที่ดี และมีระบบบริหารอย่างเป็นธรรม
ตระหนักถึงอาณาเขตของชนพื้นเมืองและประเพณีเท่าที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ และพื้นที่เหล่านั้นจะถูกบูรณาการ
เข้าสู่ภูมิทัศน์ทางบก ทางทะเล และมหาสมุทร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามความเหมาะสมของพื้นที่
นั้น ๆ ตระหนักและเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงอาณาเขตทางธรรมเนียมประเพณี
ของชนและชุมชนเหล่านั้น

Target 4
เป้าหมายที่ 4
การฟื้นฟูและอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
(Halt Species Extinction, Protect Genetic Diversity, and Manage Human-Wildlife Conflicts)

มั่นใจว่า จะต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม
เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นคืนสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นกลับมา เพื่อลดความเสี่ยงการสูญพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนรักษาและฟื้นฟู
ความหลากหลายทางพันธุกรรม ทั้งภายในและระหว่างประชากรของสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น สิ่งมีชีวิตป่า และสิ่งมีชีวิตเพาะเลี้ยง
ในท้องถิ่น เพื่อให้ประชากรเหล่านั้นมีศักยภาพในการปรับตัว รวมถึงให้มีการอนุรักษ์และจัดการอย่างยั่งยืนทั้งในและนอก
ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดความขัดแย้ง
ในการอยู่ร่วมกัน

Target 5
เป้าหมายที่ 5
ลดการใช้ประโยชน์ชนิดพันธุ์ในธรรมชาติ
(Ensure Sustainable, Safe and Legal Harvesting and Trade of Wild Species)

มั่นใจได้ว่า การใช้ประโยชน์ การเก็บเกี่ยว และการค้าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในธรรมชาติต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน ปลอดภัย และถูกกฎหมาย
รวมถึงต้องมีการป้องกันการใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับได้ ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ
และลดความเสี่ยงจากการหลุดรั่วของเชื้อโรค โดยนำวิธีการทางระบบนิเวศมาใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงให้ความเคารพ
และคุ้มครองการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นตามธรรมเนียมประเพณีอย่างยั่งยืน

Target 6
เป้าหมายที่ 6
การจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน 
(Reduce the Introduction of Invasive Alien Species by 50% and Minimize Their Impact)

ขจัด บรรเทา ลด และ/หรือทำให้ผลกระทบจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่จะเกิดกับความหลากหลายทางชีวภาพและบริการ
จากระบบนิเวศลดน้อยลง โดยการจำแนกและจัดการเส้นทางการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การป้องกันและจัดลำดับความสำคัญ
ของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ลดอัตราการนำเข้าและการตั้งถิ่นฐานของชนิดพันธุ์ที่มีศักยภาพเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานลง
อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 และกำจัดควบคุมชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในพื้นที่ที่มีความสำคัญสูง เช่น ระบบนิเวศเกาะ 

Target 7
เป้าหมายที่ 7
การลดผลกระทบจากมลพิษ 
(Reduce Pollution to Levels That Are Not Harmful to Biodiversity)

ลดความเสี่ยงจากมลพิษและผลกระทบเชิงลบของมลพิษจากทุกแหล่ง จนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
บทบาทหน้าที่และบริการจากระบบนิเวศ ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยพิจารณาจากผลกระทบสะสม ซึ่งประกอบด้วย การลดธาตุอาหาร
ส่วนเกินที่สูญเสียไปกับสิ่งแวดล้อมลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยการใช้ประโยชน์และหมุนเวียนธาตุอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
การลดความเสี่ยงจากสารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีอันตรายลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง การใช้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
(Integrated Pest Management) การใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาดำเนินงาน การดำเนินงานตามความปลอดภัยทางอาหาร
และการดำรงชีวิต รวมถึงป้องกัน ลด และดำเนินงานเพื่อขจัดมลพิษจากพลาสติก

Target 8
เป้าหมายที่ 8
การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
(Minimize the Impacts of Climate Change on Biodiversity and Build Resilience)

การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะการเป็นกรดในมหาสมุทรเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
และการเพิ่มความยืดหยุ่นคงทนของระบบนิเวศ ผ่านกิจกรรมการบรรเทา การปรับตัว และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
โดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาและ/หรือใช้วิธีการทางระบบนิเวศเพื่อลดผลกระทบเชิงลบและผลักดันให้เกิด
ผลเชิงบวกในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ 

Target 9
เป้าหมายที่ 9
การจัดการชนิดพันธุ์ในธรรมชาติเพื่อสร้างผลผลิต การบริการ และใช้ประโยชน์จากฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน 
(Manage Wild Species Sustainably To Benefit People)

มั่นใจได้ว่า การจัดการและการใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ทางสังคม เศรษฐกิจ
และสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในสถานภาพเปราะบางและกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากร
ความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ สนับสนุนกิจกรรมที่มีฐานมาจากความหลากหลายทางชีวภาพให้ยั่งยืน สนับสนุนผลผลิต
และบริการที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนคุ้มครองและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ตามธรรมเนียม
ประเพณีของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
Target 10
Target 10
เป้าหมายที่ 10
บริหารจัดการพื้นที่เกษตร ประมง และป่าไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
(Enhance Biodiversity and Sustainability in Agriculture, Aquaculture, Fisheries, and Forestry)

มั่นใจได้ว่า พื้นที่การเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงและป่าไม้ ได้รับการจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ผ่านการใช้ประโยชน์และวิธีปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การเกษตรแบบประณีตยั่งยืน
(sustainable intensification) ระบบนิเวศเกษตร (agroecological) และแนวทางที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ความยืดหยุ่นของระบบนิเวศในระยะยาว เพิ่มคุณภาพของผลผลิตและความปลอดภัยทางอาหาร เพิ่มการอนุรักษ์และฟื้นฟู
ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงดำรงรักษา การสนับสนุนของธรรมชาติที่มีต่อประชาชน รวมถึงบทบาทหน้าที่
และบริการจากระบบนิเวศ

Target 11
เป้าหมายที่ 11
ดูแล รักษาระบบนิเวศเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 
(Restore, Maintain and Enhance Nature’s Contributions to People)

ฟื้นฟู ดูแลรักษาและเพิ่มพูน การสนับสนุนของธรรมชาติที่มีต่อประชาชน บทบาทหน้าที่และบริการจากระบบนิเวศ เช่น การควบคุม
คุณภาพอากาศ น้ำและสภาพภูมิอากาศ ความสมบูรณ์ของดิน การผสมเกสร และลดความเสี่ยงโรค รวมทั้งป้องกันอันตราย
และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาและ/หรือวิธีการทางระบบนิเวศ เพื่อประโยชน์ของ
ประชาชนและธรรมชาติ

Target 12
เป้าหมายที่ 12
เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สีฟ้าในเมือง 
(Enhance Green Spaces and Urban Planning for Human Well-Being and Biodiversity)

เพิ่มขนาด คุณภาพ ความเชื่อมต่อ การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำ (blue space)
อย่างยั่งยืนในเมืองและพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น โดยการสร้างกระแสการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย
ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน มั่นใจได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพรวมอยู่ในแผนและผังเมือง โดยเพิ่มความหลากหลาย
ทางชีวภาพที่เป็นของท้องถิ่น เพิ่มความสมบูรณ์และการเชื่อมต่อของระบบนิเวศ ปรับปรุงสุขภาพและคุณภาพชีวิต
ของประชาชนให้ดีขึ้นและมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติและระบบนิเวศจะสนับสนุน ทำหน้าที่ และให้บริการ
สังคมเมืองอย่างรอบด้านและยั่งยืน 

Target 13
เป้าหมายที่ 13
ส่งเสริมการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม 
(Increase the Sharing of Benefits From Genetic Resources, Digital Sequence Information and Traditional Knowledge)

ดำเนินมาตรการทางกฎหมาย นโยบาย การบริหาร และการเสริมสร้างสมรรถนะอย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ
อย่างเหมาะสม เพื่อมั่นใจว่า การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและข้อมูลดิจิทัลของลำดับ
ทรัพยากรพันธุกรรม รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม จะต้องมีการเอื้อให้เกิดการเข้าถึง
ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเหมาะสม และภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยสอดคล้องกับเครื่องมือระหว่างประเทศด้านการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์

Target 14
เป้าหมายที่ 14
บูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่นโยบายและกฎหมาย 
(Integrate Biodiversity in Decision-Making at Every Level)

มั่นใจได้ว่า มีการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพและคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่นโยบาย
กฎระเบียบ แผน กระบวนการพัฒนา กลยุทธ์การขจัดความยากจน ยุทธศาสตร์การประเมินด้านสิ่งแวดล้อม
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างเต็มที่ตามความเหมาะสม รวมถึงการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพ
เข้าสู่บัญชีประชาชาติในการบริหารของภาครัฐทุกระดับและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนที่ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมี
นัยสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของสาธารณและเอกชน การหมุนเวียน
ทางการเงินและงบประมาณที่ใช้สำหรับเป้าประสงค์และเป้าหมายของกรอบงานฯ

Target 15
เป้าหมายที่ 15
ติดตามการดำเนินงานของภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน 
(Businesses Assess, Disclose and Reduce Biodiversity-Related Risks and Negative Impacts)

ดำเนินมาตรการทางกฎหมาย การบริหาร หรือนโยบาย เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ
และสถาบันการเงิน ให้สามารถดำเนินงาน ดังนี้

(A) ติดตาม ประเมิน และเปิดเผยอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลความเสี่ยง การใช้ และผลกระทบที่มีต่อความหลากหลาย
ทางชีวภาพ รวมถึงข้อมูลที่ต้องการอื่น ๆ จากบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ เช่น การดำเนินงาน (operations) อุปทาน
(supply) และห่วงโซ่มูลค่า (value chains) และหลักทรัพย์ การลงทุน (portfolios)

(B) สนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นให้แก่ผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืน

(C) รายงานเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า

ในการลดผลกระทบทางลบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มผลกระทบทางบวก ลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ
ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานดังกล่าวอย่างยั่งยืน

Target 16
เป้าหมายที่ 16
เพิ่มทางเลือกในการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
(Enable Sustainable Consumption Choices To Reduce Waste and Overconsumption)

มั่นใจได้ว่าประชาชนได้รับการส่งเสริมในการเลือกบริโภคอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำกรอบงานทางด้านนโยบาย กฎหมาย หรือระเบียบ
การปรับปรุงการศึกษา และการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ จะต้องลดการใช้ทรัพยากรและการสร้างของเสียจาก
การบริโภค (global footprint of consumption) ไปพร้อมกัน (an equitable manner) ผ่านการลดขยะอาหาร (food waste)
ของโลกลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง ลดการบริโภคมากเกินไปและลดการสร้างของเสียอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีร่วมกับแม่พระธรณี 

Target 17
เป้าหมายที่ 17
เสริมสร้างการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและกระจายคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีชีวภาพ 
(Strengthen Biosafety and Distribute the Benefits of Biotechnology)

จัดตั้ง เสริมสร้างสมรรถนะ และดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามข้อบท 8 (G) ของอนุสัญญาฯ
พร้อมทั้งดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมดูแลเทคโนโลยีชีวภาพและแจกจ่ายผลประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวตามข้อบท
19 ของอนุสัญญาฯ

Target 18
เป้าหมายที่ 18
ขจัดแรงจูงใจและเงินอุดหนุนที่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ 
(Reduce Harmful Incentives by at Least $500 Billion per Year, and Scale Up Positive Incentives for Biodiversity)

จำแนก ลด ละ เลิก แรงจูงใจและเงินอุดหนุนที่เป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ค.ศ. 2025 ในสัดส่วนที่พอดี
เท่าเทียม มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยที่ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องลดแรงจูงใจและเงินอุดหนุนข้างต้นให้ได้
อย่างน้อย 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
โดยเริ่มต้นจากการลดแรงจูงใจที่มีผลกระทบเชิงลบต่อความหลากหลาย
ทางชีวภาพและค่อย ๆ เพิ่มแรงจูงใจเชิงบวกสำหรับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 

Target 19
เป้าหมายที่ 19
เพิ่มแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน 
(Mobilize $200 Billion per Year for Biodiversity From all Sources, Including $30 Billion Through International Finance)

เพิ่มระดับทรัพยากรการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นรูปธรรม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับระยะเวลาและกระบวนการเข้าถึง
ทรัพยากรการเงิน จากทุกแหล่งการเงินทั้งในระดับประเทศ ระหว่างประเทศ ภาคสาธารณชนและภาคเอกชน ตามข้อบท 20
ของอนุสัญญาฯ เพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (NBSAPs) โดยภายในปี
ค.ศ. 2030
จะต้องระดมทรัพยากรทางการเงินให้ได้อย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงดำเนินงานอื่น ๆ ดังนี้

(A) เพิ่มแหล่งเงินระหว่างประเทศอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2025 และอย่างน้อย 30,000 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 จากประเทศพัฒนาแล้ว ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการ
(official development assistance: ODA) และจากประเทศที่คาดว่าจะจัดทำสัญญากับประเทศภาคีกำลังพัฒนา
เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และประเทศ
ที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ 

(B) เพิ่มการระดมทรัพยากรในระดับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยจัดเตรียมและดำเนินงานตามแผนการเงิน
ด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติหรือเครื่องมือที่มีความคล้ายคลึงกันตามความต้องการ ลำดับความสำคัญ
และสถานการณ์ของประเทศ

(C) ใช้ประโยชน์ทางการเงินของภาคเอกชน การส่งเสริมการเงินรูปแบบผสมผสาน การดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อหา
และเพิ่มแหล่งเงินใหม่และการสนับสนุนภาคเอกชนให้ลงทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการดำเนินงาน
ผ่านการลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวก(impact funds) และเครื่องมืออื่น ๆ 

(D) กระตุ้นแผนการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น ค่าตอบแทนสำหรับการบริการจากระบบนิเวศ
(payment for ecosystem services) ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bonds) ค่าตอบแทนหรือสินเชื่อด้านความหลากหลาย
ทางชีวภาพ (biodiversity offsets and credits) กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์

(E) ใช้ประโยชน์และดำเนินงานร่วมกันอย่างเหมาะสมเพื่อกำหนดเป้าหมายทางการเงินในการแก้ไขวิกฤตการณ์
ความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

(F) ส่งเสริมบทบาทในการรวบรวมการปฏิบัติของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น การกระทำของแม่พระธรณี (mother earth
centric action) และวิธีการที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการตลาด ซี่งรวมชุมชนที่มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
และความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาสังคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

(G) ส่งเสริมการจัดหาและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และโปร่งใส

Target 20
เป้าหมายที่ 20
การเสริมสร้างสมรรถนะและการถ่ายทอดเทคโนโลยี 
(Strengthen Capacity-Building, Technology Transfer, and Scientific and Technical Cooperation for Biodiversity)
เสริมสร้างสมรรถนะและการพัฒนา การเข้าถึงและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนาและการเข้าถึง
ความร่วมมือทางนวัตกรรม วิชาการ และวิทยาศาสตร์ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศ
กำลังพัฒนา (South–South cooperation) ความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา
(North–South cooperation) และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศและภาคประชาสังคม (triangular
cooperation) เพื่อบรรลุความต้องการในการดำเนินงานและการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
สนับสนุนการเข้าร่วมในโครงการการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์
ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและการสร้างความเข้มแข็งงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สมรรถนะในการติดตาม
ซึ่งเทียบเท่าได้กับความต้องการที่จะไปให้ถึงเป้าประสงค์และเป้าหมายของกรอบงานฯ

Target 21
เป้าหมายที่ 21
มีข้อมูลเพียงพอในการกำหนดแนวทางบริหารจัดการ 
(Ensure That Knowledge Is Available and Accessible To Guide Biodiversity Action)

มั่นใจได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ผู้ปฏิบัติ และสาธารณชน สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้เพื่อใช้
เป็นแนวทางในการบริหาร บูรณาการ และการมีส่วนร่วมในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
และเพื่อเสริมสร้างการสื่อสาร การยกระดับความตระหนัก การศึกษา การติดตาม การจัดการงานวิจัยและองค์ความรู้
สำหรับข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ในบริบทของภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม การปฏิบัติและเทคโนโลยีของชนพื้นเมือง
และชุมชนท้องถิ่นควรคำนึงถึง การเปิดโอกาสให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงอย่างอิสระ การเข้าถึงตามความเห็นชอบ
ที่ได้แจ้งล่วงหน้าที่สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศ

Target 22
เป้าหมายที่ 22
สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม 
(Ensure Participation in Decision-Making and Access to Justice and Information Related to Biodiversity for all)

มั่นใจได้ว่า ผู้แทนจากชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ การเข้าถึงกระบวนการ
ยุติธรรมและข้อมูลเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ได้รับการสรรหาอย่างเต็มที่ เท่าเทียม ครอบคลุม
มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงเพศสภาพ โดยเคารพต่อวัฒนธรรมและสิทธิเหนือดินแดน อาณาเขต ทรัพยากร
และภูมิปัญญาท้องถิ่นของพวกเขา รวมถึงมั่นใจว่าผู้หญิงและเด็กหญิง เด็กและเยาวชน ผู้พิการ จะได้รับการปกป้อง
สิทธิทางมนุษยธรรมของของผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม (environmental human rights defenders) อย่างเต็มที่ 

Target 23
เป้าหมายที่ 23
สนับสนุนสิทธิสตรีและเด็กและคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศในการดำเนินงาน 
(Ensure Gender Equality and a Gender-Responsive Approach for Biodiversity Action)


มั่นใจได้ว่า มีความเท่าเทียมทางเพศที่คำนึงถึงเพศสภาพในการดำเนินงานตามกรอบงานฯ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม
ทางโอกาสและสมรรถนะของผู้หญิง เด็กหญิง ในการสนับสนุนวัตถุประสงค์ทั้งสามข้อของอนุสัญญาฯ โดยตระหนักถึง
ความเท่าเทียมทางสิทธิและการเข้าถึงดินแดน ทรัพยากรธรรมชาติและความเท่าเทียม ในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
และมีความหมาย และความเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในการปฏิบัติ การสร้างพันธสัญญา การตัดสินใจทางนโยบาย
ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ 

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept

Privacy & Cookies Policy