ระบบนิเวศทะเลเปิด (Open sea) เป็นบริเวณที่อยู่ห่างออกจากชายฝั่ง เป็นพื้นที่มีความลาดชันเพิ่มขึ้นตามความลึกของน้ำ รวมพื้นที่มวลน้ำทั้งหมดไปจนถึงขอบของไหล่ทวีป ตั้งแต่ผิวน้ำทะเลจนถึงจุดที่ลึกที่สุดของทะเล เป็นระบบนิเวศที่มีความแตกต่างกันอย่างมากและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของแหล่งที่อยู่อาศัย

ลักษณะพื้นที่

          เขตทะเลเปิดสามารถแบ่งเป็นเขตตามแนวราบ (Vertical direction) ด้วยการแบ่งโดยใช้แสงเป็นปัจจัยสำคัญได้ 2 เขต คือ Photic zone เป็นบริเวณที่ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ทําให้เขตนี้มีขบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งในน้ำทะเลมีความลึกประมาณ 200 เมตรอยู่ในเขตเดียวกับ Continental shelf และ Aphotic zone เป็นบริเวณที่ลึกถัดลงมาจากเขต Photic บริเวณที่แสงแดดส่องลงไปไม่ถึง ซึ่งอยู่ลึกลงไปจากเขตที่ 2 ในเขตนี้จะไม่มีการสังเคราะห์แสง สิ่งมีชีวิตจึงมีจำนวนน้อย

ทั้งนี้ หากแบ่งตามสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเล จะสามารถแบ่งได้เป็น 5 เขต คือ (1) Epipelagic zone เป็นบริเวณที่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 200 เมตร ซึ่งเทียบได้กับเขต Photic zone เนื่องจากเป็นระดับที่มีความเข้มแสงเพียงพอสำหรับการสังเคราะห์แสง (2) Mesopelagic zone เป็นบริเวณที่ลึกลงมาจากระดับ 200-1,000 เมตร (3) Bathypelagic zone เป็นบริเวณที่อยู่ถัดลงมาจากระดับ 1,000-4,000 เมตร (4) Abyssalpelagic zone เป็นบริเวณที่อยู่ในระดับ 4,000-6,000 เมตร และ (5) Hadalpelagic zone เป็นบริเวณที่ลึกมากกว่า 6,000 เมตร พบในบริเวณร่องลึกก้นสมุทร

ในขณะที่ทะเลไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. อ่าวไทย (Gulf of Thailand) เป็นน่านน้ำภายในที่อยู่ส่วนในสุดของทะเลจีนใต้และตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิดล้อมรอบด้วยชายฝั่งของคาบสมุทรมลายูทางตะวันตกและแผ่นดินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวไทยเป็นช่องเปิดระหว่างปลายแหลมญวน ประเทศเวียดนามและเมืองโกตาบารูของประเทศมาเลเซีย ติดต่อกับทะเลจีนใต้ และส่วนที่กว้างที่สุดอยู่ลึกเข้ามาในอ่าว พื้นท้องทะเลอ่าวไทยมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 44 เมตร บริเวณส่วนกลางของอ่าวที่ลึกที่สุดมีความลึกประมาณ 86 เมตร ตอนกลางอ่าวมีความลึกประมาณ 60 เมตร อ่าวไทยติดต่อกับทะเลจีนใต้โดยมีสันเขาใต้น้ำ 2 แนว ที่วางตัวตามแนวเหนือใต้เป็นตัวกั้น สันเขาใต้น้ำฝั่งตะวันตกของอ่าววางตัวตามแนวยาวจากโกตาบารูทางใต้ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร มีความลึกประมาณ 50 เมตร  ส่วนสันเขาทางฝั่งตะวันออกมีความลึกประมาณ 25 เมตร เป็นแนวจากแหลมคาเมาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร ระหว่างสันเขาทั้งสองแนวเป็นร่องน้ำลึก มีความลึก (Sill depth) 67 เมตร สันเขาใต้น้ำนี้เป็นตัวควบคุมการไหลของน้ำระดับล่าง ในอ่าวไทย ลักษณะชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือจะตื้นและเรียบกว่าชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้
  2. ทะเลอันดามัน (Andaman Sea) เป็นส่วนหนึ่งของไหล่ทวีปของมหาสมุทรอินเดีย เป็นชายฝั่งทะเลจมตัวที่มีลักษณะเป็น Marginal sea คือล้อมรอบด้วยแผ่นดิน เกาะ หรือคาบสมุทร มีส่วนเปิดที่ติดต่อกับทะเลเปิดที่ผิวน้ำและอาจมีสันเขาใต้ทะเล ทะเลอันดามันมีลักษณะเป็นแอ่งกึ่งปิดตั้งอยู่ทางตะวันออกของอ่าว เบงกอล ความลึกของพื้นท้องทะเลในทะเลอันดามันของไทยมีความแตกต่างกัน โดยแบ่งได้เป็น 2 พื้นที่ตามเส้นชั้นความลึกของน้ำทะเล ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายของแนวปะการังทั้งชนิดและปริมาณ คือ  ผิวพื้นทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดระนอง พังงาฝั่งตะวันตกและภูเก็ตฝั่งตะวันตก ทรวดทรงของพื้นทะเลมีความลาดชันสูง มีความลึกน้ำเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร โดยเฉพาะบริเวณแอ่งอันดามันซึ่งเป็นบริเวณที่ทะเลไทยมีความลึกมากที่สุดประมาณ 3,000 เมตร ในขณะที่พื้นผิวทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดพังงาฝั่งใต้ ภูเก็ตฝั่งตะวันออก กระบี่ และตรัง มีความลาดเทน้อย ส่วนของไหล่ทวีปมีความลึกไม่เกิน 300 เมตร
  3. ช่องแคบมะละกาตอนเหนือ ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่เชื่อมต่อทะเล อันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) กับทะเลจีนใต้ (มหาสมุทรแปซิฟิก) ซึ่งอยู่ระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสุมาตรา องค์การอุทกศาสตร์สากล (International Hydrographic Organization) ได้กำหนดขอบเขตและพื้นที่ของช่องแคบมะละกาโดยเริ่มต้นจากแหลมพรหมเทพในจังหวัดภูเก็ตของประเทศไทยไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ ซึ่งทำให้ช่องแคบมะละกาประกอบด้วยรัฐเจ้าของหรือรัฐชายฝั่งในพื้นที่ของช่องแคบ 4 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยเป็นรัฐเจ้าของพื้นที่ส่วนบนของช่องแคบ มะละกา หรือที่เรียกว่าช่องแคบมะละกาตอนเหนือ นับจากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ไปจนถึงจังหวัดสตูล มีความยาวขอบฝั่งช่องแคบนับได้ 294 กิโลเมตร รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 32,000 ตารางกิโลเมตร

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

ระบบนิเวศทะเลเปิดมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างแต่มีสิ่งมีชีวิตไม่หนาแน่น เนื่องจากอยู่ห่างจากแผ่นดินทำให้มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตในปริมาณน้อย มวลน้ำถูกผสมให้เข้ากันด้วยกระแสน้ำและกระแสน้ำวน (Gyres) ถึงแม้จะมีมวลชีวภาพที่จำกัดแต่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง

สังคมพืช พืชที่พบในระบบนิเวศทะเลเปิดจะอยู่เขต Photic zone หรือ Epipelagic zone ซึ่งเป็นกลุ่มแพลงก์ตอนพืชทั้งหมด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแพลงก์ตอนพืชเซลล์เดียวขนาดเล็ก และกลุ่มสาหร่ายลอยน้ำขนาดใหญ่ เช่น ไดอะตอม ไดโนแฟลกเจลเลต และ Coccolithophorids เป็นต้น

สังคมสัตว์

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มเรทาเลีย เช่น foraminifera เป็นต้น
  • กลุ่มเรดิโอลาเรีย เช่น Acanthometron sp. เป็นต้น
  • กลุ่มไนดาเรีย แมงกะพรุนจัดเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดใหญ่ล่องลอยในน้ำ ในประเทศไทยพบแมงกะพรุนทั้งหมด 3 กลุ่ม 32 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่ม Scyphozoa 22 ชนิด กลุ่ม Cubozoa 8 ชนิด และกลุ่ม Hydrozoa 2 ชนิด โดยแมงกะพรุนที่พบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Scyphozoa ได้แก่ แมงกะพรุนหางขน (Acromitus sp.) แมงกะพรุนขี้ไก่หรือแมงกะพรุนถ้วย(Catostylus townsendii) แมงกะพรุนหัวมงกุฏ (Cephea cephea) แมงกะพรุนหอม (Versuriga anadyomene) แมงกะพรุนลายจุดหรือแมงกะพรุนด่างออสเตรเลีย (Phyllorhiza punctata) แมงกะพรุนรกช้าง (Cyanea buitendijki) พบมากทางภาคใต้ เป็นต้น
  • กลุ่มครัสเตเชียน เช่น copepods, amphipods, ostracods เป็นต้น กุ้ง เช่น กุ้งโอคัก (Metapenaeus sp.) กุ้งแชบ๊วย (Fenneropenaeus merguiensis) กุ้งกุลาลาย (Penaeus semisulcatus) เป็นต้น กั้ง เช่น กั้งกระดาน (Thenus spp.) กั้งไข่ (Mantis shrimp) เป็นต้น ปู เช่น ปูม้า (Portunus pelagicus) ปูจักจั่น (Ranina ranina) เป็นต้น
  • กลุ่มมอลลัสกา ได้แก่ หอย เช่น หอยเชลล์ (Amusium pleuronectes) เป็นต้น หมึก เช่น หมึกกล้วย (Loligo sp.) หมึกกระดอง (Sepia sp.) หมึกสาย (Octopus sp.) หมึกหอม (Sepioteuthis lessoniana) เป็นต้น

สัตว์มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มปลา กลุ่มปลาผิวน้ำ เช่น ปลากระตัก (Engraulidae) ปลาหลังเขียว (Clupeidae) ปลาทู (Rastrelliger brachysoma) ปลาลัง (Rastrelliger kanagurta) ปลาสีกุน (Selaroides leptolepis) ปลาอินทรี (Scomberomorus commerson) ปลาดาบลาว (Chirocentrus dorab) ปลาโอดำ (Thunnus tonggol) ปลาโอลาย (Euthynnus affinis) ปลาสำลี (Seriolina nigrofasciata) ปลาจะละเม็ดดำ (Parastromateus niger) กลุ่มปลาหน้าดิน เช่น ปลาทรายแดง (Nemipterus spp.) ปลาปากคม (Saurida spp.) ปลาตาโต (Selar crumenophthalmus) ปลาจักรผาน (Psettodes erumei) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์ปีกนกทะเล (Seabirds) เช่น นกน็อดดี้ (Anous stolidus) นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Fregata andrewsi) นกโจรสลัดเล็ก (Fregata ariel) นกบู๊บบี้หน้าดำ (Sula dactylatra) นกบู๊บบี้สีน้ำตาล (Sula leucogaster) นกบู๊บบี้ตีนแดง (Sula sula)
    นกนางนวลแกลบท้องดำ (Sterna acuticauda) นกนางนวลแกลบจีน (Thalasseus bernsteini) นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ (Sterna dougallii) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน งู เช่น งูแสมรังหัวดำ (Hydrophis fasciatus) งูฝักมะรุม (Hydrophis klossi) งูแสมรังเหลืองลายคราม (Hydrophis cyanocinctus) งูชายธงท้องขาว (Hydrophis viperinus) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงูทะเลที่ลอยตัวตามผิวน้ำหรือเกาะวัสดุที่ลอยน้ำดำรงชีวิตแบบสัตว์ผิวน้ำ คือ งูชายธงหลังดำ (Hydrophis platurus) และเต่าทะเล เช่น เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพบวาฬและโลมา จำนวน 27 ชนิด จาก 6 วงศ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ (1) ชนิดที่ไม่มีฟัน (Baleen whale) ซึ่งจะมีแผงกรอง (Baleen plate) ทำหน้าที่กรองอาหาร ได้แก่ วาฬฟิน (Balaenoptera physalus) วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni) วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai) วาฬหลังค่อม (Megaptera novaeangliae) วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) (2) ชนิดที่มีฟัน (Toothed whale) ได้แก่ วาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) วาฬหัวทุยเล็ก (Kogia breviceps) วาฬหัวทุยแคระ (Kogia simus) วาฬฟันสองซี่ (Mesoplodon ginkgodens) วาฬเบลนวิลล์ (Mesoplodon densirostris) วาฬคูเวียร์ (Ziphius cavirostris) วาฬเพชฌฆาต (Orcinus orca) วาฬเพชฌฆาตดำ (Pseudorca crassidens) วาฬเพชฌฆาตเล็ก (Feresa attenuata) วาฬนำร่องครีบสั้น (Globicephala macrorhynchus) วาฬหัวแตงโม (Peponocephala electra) โลมาหลังโหนก (Sousa Chinensis) โลมาปากขวด (Tursiops aduncus) โลมาฟันห่าง (Steno bredanensis) โลมาปากยาว (Delphinus capensis) โลมากระโดด (Stenella longirostris) โลมาลายแถบ (Stenella coeruleoalba) โลมาลายจุด (Stenella attenuata) โลมาฟราเซอร์ (Lagenodelphis hosei) โลมาริสโซ (Grampus griseus) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Neophocaena phocaenoides)

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

ชนิดพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) ได้แก่ เต่าทะเล ฉลามวาฬ วาฬและโลมา ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์อพยพย้ายถิ่นที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกในทะเลเขตร้อนถึงเขตอบอุ่น ซึ่งฉลามวาฬ วาฬและโลมาเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำให้ระบบนิเวศมีความยั่งยืน แต่ปัจจุบันอยู่ในสถานะเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพราะถูกคุกคามจากการทำประมง การท่องเที่ยวทางทะเล ที่ขาดความรับผิดชอบ และปัญหาขยะทะเล ดังนั้นการอนุรักษ์เต่าทะเล ฉลามวาฬ วาฬและโลมา จึงมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลระบบนิเวศ

ชนิดพันธุ์ที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ได้แก่ เต่าทะเล ฉลามชนิดต่าง ๆ วาฬและโลมา เนื่องจากเต่าทะเล ฉลามวาฬและวาฬเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ โลมาอยู่รวมกันเป็นฝูง ซึ่งสัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องการอาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นการพบเต่าทะเล ฉลามวาฬ วาฬและโลมา ในพื้นที่สามารถเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี

ชนิดพันธุ์หายากหรือถูกคุกคาม (IUCN Red List) ได้แก่

  • ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Fregata andrewsi) นกนางนวลแกลบจีน (Thalasseus bernsteini)  เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ ฉลามวาฬ (Rhincodon typus) (สถานภาพในประเทศไทย: VU)  นกนางนวลแกลบท้องดำ (Sterna acuticauda) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) วาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musculus) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ วาฬฟิน (Balaenoptera physalus) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Neophocaena phocaenoides) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) โลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) วาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ วาฬเพชฌฆาตดำ (Pseudorca crassidens) (สถานภาพในประเทศไทย: LC) โลมาปากขวด (Tursiops aduncus) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่มีอันตรายและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

  • แพลงก์ตอนพืชที่ทำให้เกิดพิษได้แก่ กลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต เช่น Pseudo-nitzschia spp. และ Dinophysis spp.เป็นต้น
  • แมงกะพรุนมีพิษรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น แมงกะพรุนไฟ (Chrysaora sp.) แมงกระพรุนกลุ่ม Cubozoa หรือแมงกะพรุนกล่อง เช่น แมงกะพรุนกลุ่มหนวดหลายเส้น (Chironex indrasaksajiae) แมงกะพรุนกลุมหนวดเส้นเดียว (Morbakka sp.), แมงกะพรุนกะเช้าสีดา (Meteorona sp.) แมงกะพรุนกลุ่ม Hydrozoa เช่น แมงกระพรุนไฟหมวกโปรตุเกสหรือแมงกะพรุนหัวขวด (Physalia utriculus) เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่การใช้ประโยชน์ทางการประมง เพื่อเป็นอาหาร ได้แก่ แมงกะพรุนลอดช่อง แมงกะพรุนหนัง ปลากะรัง ปลากะพง ปลาสาก ปลาหมูสี ปลาขี้จีน ปลาจวด ปลาลิ้นหมา ปลาโทง ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากดคัง ปลากะรัง ปลาสร้อยนกเขา ปลาโมง ปลาทรายขาว ปลาแพะ ปลากะมงพร้าว ปลาหางกิ่ว ปลาหลังเขียว ปลาข้างตะเภา ปลาทรายแดง เป็นต้น

ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ถึงแม้ว่าระบบนิเวศทะเลเปิดอยู่ห่างจากแผ่นดินแต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากมนุษย์ ดังนี้

  1. การทำประมงเกินขนาด โดยร้อยละ 90 ของประชากรปลาในทะเลเปิด เช่น ปลาทูน่า ปลามง ถูกจับจากการทำประมง กลุ่มแพลงก์ตอนสัตว์มีการเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวเนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น ผลจากการทำประมงเกินขนาดทำให้ปลาที่อยู่ในลำดับขั้นทางอาหารสูง (Higher trophic levels) ถูกแทนที่ด้วยปลาที่อยู่ในลำดับขั้นทางอาหารต่ำกว่า (Lower trophic levels) ส่งผลให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล
  2. ขยะทะเล ปัญหาของขยะทะเลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มของประชากรของมนุษย์และการขาดจิตสำนึกในการใช้สิ่งของและการทิ้งขยะ ทำให้เกิดการสูญเสียหรือการลดจำนวนลงของชนิดพันธุ์ในระบบนิเวศโดยเฉพะสัตว์ทะเลหายากอย่าง วาฬและโลมา ซึ่งเข้าใจผิดและกินขยะทะเลเข้าไปเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร อีกทั้งขยะทะเลจำพวกเชือกและเศษอวนสามารถเกี่ยวรัดตัว เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ทำให้บาดเจ็บและจมน้ำเสียชีวิต
  3. น้ำมันรั่ว เรือล่มกลางทะเล และของเสียจากเรือเดินทะเล โดยน้ำมันที่รั่วไหลสู่ทะเลจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เริ่มจากน้ำมันบางส่วนระเหยไป น้ำมันที่เหลือจะเปลี่ยนสภาพไปตามคุณสมบัติเฉพาะของชนิดน้ำมันนั้น ๆ และตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น แสงแดด กระแสน้ำ อุณหภูมิ ฯลฯ คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น รวมทั้ง นกน้ำด้วย เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภคขั้นต้น จนถึงผู้บริโภค
    ขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือมนุษย์

การดำเนินงานที่ผ่านมา

  1. การควบคุมการทำประมง โดยการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) โดยมุ่งเน้นการควบคุมเรือประมง การจัดทำรายงาน และติดตั้งระบบติดตามเรือประมง
  2. ความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการขยะทะเลในระดับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล
  3. คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ประเทศไทยได้ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันในแหล่งน้ำโดยปฏิบัติตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานหลักในการดำเนินการขจัดและแก้ไขปัญหาจากคราบน้ำมันรั่วไหล คือ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแล และรับผิดชอบในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ รวมทั้งการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และแถลงข่าวด้านการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน และรายงานผลการดำเนินงานในคณะรัฐมนตรีรับทราบ