ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

สัตว์ป่าในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงสภาพถิ่นอาศัยในระบบนิเวศป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสัตว์ผู้ล่า (Carnivore) ที่เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เป็นแกนหลักของระบบนิเวศ (Keystone species) เช่น เสือโคร่ง เสือดำ/เสือดาว การคงอยู่ของสัตว์ผู้ล่าหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ที่เป็นเหยื่อตามธรรมชาติ นั่นคือป่าต้องมีคุณภาพของถิ่นอาศัยที่ดีมากพอที่จะรองรับสัตว์เหล่านี้ได้ นอกจากนี้ สัตว์ป่าที่เป็นร่มเงา (Umbrella species) เช่น ช้างป่า เป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่อาศัยขนาดใหญ่ การอนุรักษ์คุ้มครองพื้นที่อาศัยของช้างยังเป็นผลดีต่อสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่อาศัยของช้างป่า เช่น กระทิง วัวแดง เก้ง กวางและสัตว์ขนาดเล็กต่าง ๆ นอกจากนี้ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนชั้นเรือนยอดของป่า เช่น ชะนี และนกเงือก ยังจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะที่มีบทบาทช่วยกระจายเมล็ดพืชในป่า อีกทั้งยังมีการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาต้นไม้ใหญ่ในป่าเป็นหลัก การคงอยู่ของชะนีและนกเงือกจึงเป็นการรับประกันว่าป่ายังสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์

ไม้เศรษฐกิจ เช่น สัก (Tectona grandis) พะยูง (Dalbergia cochinchinensis) ชิงชัน (Dalbergia oliveri) ประดู่ (Pterocarpus macrocarpus) ตะเคียน (Hopea odorata) มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa) เต็ง (Shorea obtusa) พะยอม (Shorea roxburghii) จำปาป่า (Michelia champaca) แดง (Xylia xylocarpa) กฤษณา (Aquilaria crassna) ไผ่ (Bambusa spp.) ผลผลิตจากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้ เช่น หน่อไม้ เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดไผ่ เห็ดระโงก เห็ดขอน ผักหวาน สะตอ ลูกประ ลูกเหรียง หวาย ฝาง รางจืด ไข่มดแดง แมงอีนูน น้ำผึ้ง เป็นต้น ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ว่านเพชรหึง (Grammatophyllum speciosum) จันทน์ผา (Dracaena loureiroi) กล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ พืชจำพวกเฟิร์น เป็นต้น