โครงการจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ : การพัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ (2566)
รายละเอียดโครงการ

- ที่มาความสำคัญ
ปากแม่น้ำกระบี่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ลำดับที่ 1,110 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ระบบนิเวศของป่าชายเลน นิเวศชายฝั่ง นิเวศหาดเลน และหาดทราย รวมทั้งเป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ตามโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกน้ำอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย (Partnership for the Conservation of Migratory Waterbirds and the Sustainable Use of their Habitats in the East Asian – Australasian Flyway หรือ East Asian – Australasian Flyway Partnership : EAAFP) แห่งแรกของประเทศไทย (ลำดับที่ 84 ของ EAAFP) มีพื้นที่ประมาณ 133,199 ไร่ ครอบคลุม อำเภอเมืองกระบี่ และอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ พบนกชายเลนทั้งหมด 27 ชนิด มี 25 ชนิด เป็นนกน้ำอพยพชนิดที่มีความสำคัญระดับโลก เช่น นกทะเลขาเขียวลายจุด (Spotted Greenshank) นกหัวโตทรายเล็ก (Mongolian Plover) นกหัวโตทรายใหญ่ (Greater Sand Plover) นกหัวโตขาดำ (Kentish Plover) นกซ่อมทะเลอกแดง (Asian Dowitcher) และ นกน็อตใหญ่ (Great Knot) เป็นต้น ในระหว่างการอพยพ นกน้ำเหล่านี้ จะอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มีสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและเหมาะสม เพื่อพักอาศัยและเป็นแหล่งอาหารสำหรับการฟื้นฟูร่างกายและสร้างพลังงานให้เพียงพอในการเดินทางระยะต่อไป พื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ (Flyway Network Sites) ที่มีความต่อเนื่องในเส้นทางการอพยพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์และปกป้องนกน้ำที่อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกน้ำอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืนตามบริบทของพื้นที่ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพทางการตลาด และกระบวนการผลิตของชุมชนในพื้นที่ โดยใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการจูงใจในการอนุรักษ์ฯ และกลไกทางการตลาดเพื่อต่อยอดหรือส่งเสริมมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับนกน้ำอพยพและถิ่นที่อยู่อาศัย เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน - วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)
2. เพื่อพัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ - ผลผลิตของโครงการ
กลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกน้ำอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำ จังหวัดกระบี่ กรณีศึกษาพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ - ที่ปรึกษา
บริษัท เทสโก้ จำกัด - พื้นที่ศึกษา
พื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ - ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566