โครงการจัดทำและปรับปรุงสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย (2563)
รายละเอียดโครงการ

- ที่มาความสำคัญ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางแห่งชาติอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในลำดับที่ 188 เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยจะต้องมีการประสานดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากลไกและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และยังเป็นการดำเนินการ ที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการสงวน คุ้มครอง และป้องกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งตามมาตรา 7 (a) ของอนุสัญญาฯ กำหนดให้ภาคีจำแนก วินิจฉัยองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยพิจารณารายการซึ่งระบุตามประเภทชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ชนิดพันธุ์หายาก และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นหรือชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ประกอบกับแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2554 – 2563 และเป้าหมายไอจิ โดยเป้าหมายที่ 12 กำหนดให้ภาคีป้องกันไม่ให้ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามต้องสูญพันธุ์ และปรับปรุงสถานภาพการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ดังกล่าว โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ประชากรลดลงเหลือน้อยที่สุด และผดุงไว้ให้ยั่งยืน ซึ่ง สผ. ได้มีการดำเนินการจัดสถานภาพชนิดพันธุ์ที่คุกคามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยพิจารณาสถานภาพของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ตามแนวทางเอกสาร IUCN Red List Categories (ค.ศ 1994) ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) IUCN ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกขึ้นใหม่ และ สผ. ได้นำมาใช้จัดสถานภาพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยได้ดำเนินการปรับปรุงสถานภาพของสัตว์มีกระดูกสันหลังตามเกณฑ์ของ IUCN (2001) และ Version 3.1 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) และได้มีการดำเนินการปรับปรุงสถานภาพของสัตว์มีกระดูกสันหลังครั้งล่าสุด ในปี พ.ศ. 2558 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ได้มีการศึกษาวิจัยและมีข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้น เช่น การค้นพบชนิดใหม่ และแรงกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้ชนิดพันธุ์หลายชนิดมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชากรสิ่งมีชีวิตและถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ประกอบกับการดำเนินงานที่ผ่านมายังไม่มีการจัดทำสถานภาพสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2563 จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำทะเบียนสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่มที่มีความพร้อมของข้อมูลและปรับปรุงทะเบียนสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทย เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันสำหรับใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการให้กับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองชนิดพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์หายาก ชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น รวมถึงการกำหนดนโยบายสำหรับการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยชนิดพันธุ์นั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป - วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ทราบสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (กลุ่มมอลลัสกา กลุ่มครัสเตเชียน และกลุ่มปะการัง) และสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทย
2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์และถิ่นอาศัย
3. เพื่อจัดทำฐานข้อมูลชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของระบบคลังข้อมูลทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย - ผลผลิตของโครงการ
1. (ร่าง) ทะเบียนสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทย
2. (ร่าง) ทะเบียนสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทย (ฉบับปรับปรุง) จำนวน 5 กลุ่ม (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา)
3. ฐานข้อมูลสถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย
4. ดัชนีบัญชีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย (Thailand Red List Index) - ความร่วมมือ
บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (ยูเออี) - พื้นที่ศึกษา
ทั่วประเทศ - ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563