โครงการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. (2566)
รายละเอียดโครงการ

- ที่มาความสำคัญ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2563 ซึ่งผ่านกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) รวมทั้งการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็นจากหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินการเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้เผยแพร่ผลการรับฟังความเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สผ. รวมทั้งได้นำเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ทส. และ กอช. ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ และให้ สผ. นำเสนอเรื่อง (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติอนุมัติหลักการของ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สผ. ได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนกลไกตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของ สผ. ในการรองรับภารกิจภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ และเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการดำเนินงานของ สผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงมีความจำเป็นจะต้องจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ตามลำดับความสำคัญหรือความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งรายละเอียดของ (ร่าง) กฎหมายลำดับรองจะเป็นประโยชน์ในการอธิบายถึงกระบวนการ ขั้นตอน ที่จะต้องดำเนินการตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำกฎหมายลำดับรองไปประกอบการชี้แจงในขั้นตอนการพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมการกฤษฎีกาและรัฐสภาต่อไป - วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการออกกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯให้สามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เพื่อจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. - ผลผลิตของโครงการ
(ร่าง) กฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับ (ร่าง) พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. - ที่ปรึกษา
บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (ยูเออี) - พื้นที่ศึกษา
ทั่วประเทศ - ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566