Just another WordPress site

ระบบนิเวศเกาะ

ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ให้คำนิยามของ “เกาะ” ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งมักหมายถึงเกาะที่อยู่ในทะเล มีทั้งเป็นเกาะที่อยู่ในบริเวณไหล่ทวีป เกาะในมหาสมุทร และเกาะที่แยกออกจากผืนแผ่นดิน ทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในบนพื้นที่เกาะ เมื่อเวลาผ่านไป ก่อให้เกิดการวิวัฒนการทางสายพันธุ์ จนเป็นแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมของชนิดพันธุ์ที่มีความเฉพาะสูง ซึ่งมีคุณลักษณะใหม่และมีการปรับตัวที่ไม่ปกติ เช่น การมีขนาดใหญ่ (gigantism) การแคระเกร็น (dwarfism) ความไม่สามารถในการบิน (flightlessness) การสูญเสียการกระจายตัวและกลไกการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นต้น ทำให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมและประชากรถูกจำกัดในพื้นที่ ส่วนชนิดพันธุ์จะเกิดการกระจุกตัว ในพื้นที่ขนาดเล็ก รวมถึงการพบชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่พบในพื้นที่อื่น ซึ่งทำให้แปลความได้ว่าเกาะเป็นพื้นที่ “hot spots” ที่อุดมไปด้วยทรัยพากรพืชและสัตว์ที่สำคัญของโลก

เกาะในประเทศไทย หมายถึง บริเวณที่ดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มน้ำขัง เช่น บึงหรือทะเลสาบก็ได้ เนื่องจากเกาะเป็นระบบนิเวศบนบกที่แยกส่วนออกจากแผ่นดินใหญ่ โดยแวดล้อมไปด้วยผืนน้ำ ทำให้มีโอกาสพบชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (Endemic species) ได้มากกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งเกาะในน่านน้ำทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน มีพื้นที่เริ่มตั้งแต่บริเวณริมชายฝั่งทะเลออกไปในทะเล 200 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยเกาะจะโผล่พ้นน้ำตลอดเวลา และไม่จำกัดขนาดพื้นที่หรือมีประชาชนอาศัยอยู่หรือไม่ และไม่คำนึงถึงระยะห่างจากชายฝั่งทะเล ดังนั้น เกาะจึงอาจหมายความรวมถึงหินโสโครกที่โผล่พ้นน้ำตลอดเวลาด้วย

ลักษณะพื้นที่

ระบบนิเวศเกาะ ประกอบด้วยระบบนิเวศที่แตกต่างกัน ซึ่งในเกาะหนึ่งอาจประกอบด้วยระบบนิเวศ ที่มีความหลากหลาย เช่น ระบบนิเวศภูเขา ระบบนิเวศป่าไม้ ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น จากการศึกษาข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า เกาะของประเทศไทยมีการกระจายตัวอยู่ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยฝั่งอ่าวไทย มีเกาะจำนวน 374 เกาะ ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน มีจำนวน 562 เกาะ มีความยาวรอบเกาะรวมกันทั้งหมด 3,724.32 กิโลเมตร และพื้นที่ทั้งหมดรวมกันทั้งสิ้น 2,686.84 ตร.กม. จังหวัดที่มีจำนวนเกาะมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา (155 เกาะ) รองลงมาจังหวัดกระบี่ (154 เกาะ) และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (108 เกาะ)

  • เกาะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

ประเทศไทยมีเกาะที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ หาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำ เกาะกระ และหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง โดยมีระบบนิเวศที่สำคัญ ดังนี้

  • หาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำ จังหวัดตรัง มีพื้นที่ 414,456.25 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลกในวันที่ 14 สิงหาคม 2545 พื้นที่ประกอบด้วยระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย ประกอบด้วย แม่น้ำ ปากแม่ น้ำ ป่าชายเลน แหล่งน้ำกร่อย ชายหาด หาดหิน แนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนกอย่างน้อย 212 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกซ่อมทะเลอกแดง นกฟินฟุต นกหัวโตกินปู ทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่น รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีความงดงามทางธรรมชาติ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาวิจัยที่สำคัญแห่งหนึ่ง และชายฝั่ง มีความหลากหลายของระบบนิเวศสูง
  • เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ 2,337.5 ไร่ ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 9 ของประเทศไทย ประกาศเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2556 เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย ประกอบด้วย ภูเขาขนาดเล็ก แนวหินชายฝั่ง พบความหลากหลายของปะการังแข็งกว่า 67 ชนิด ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งปะการังที่หายากและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่าตนุ และเต่ากระ เป็นแหล่งอาศัยของนกโจรสลัดเกาะคริสต์มาสซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
  • หมู่เกาะระ-เกาะพระทอง จังหวัดพังงา มีพื้นที่ 122,800 ประกอบไปด้วยเกาะขนาดใหญ่สองเกาะ มีความหลากหลายของระบบนิเวศที่เป็นทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ป่าพรุ บึงน้ำจืด ป่าดิบชื้น ป่าชายหาด หาดเลน แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการังชายฝั่ง รวมทั้งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญหลายชนิด อาทิ เต่าหญ้า เต่ากระ เต่ามะเฟือง และนกตะกรุมซึ่งเป็นนกที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สำคัญ อาทิ ลิ่นชวา กวางป่า รวมทั้งพะยูน อีกทั้งมีแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่กว่า 4,375 ไร่ และเป็นแหล่งขยายเพาะพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาไม่ต่ำกว่า 268 ชนิด

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept

Privacy & Cookies Policy