[เก็บไว้ก่อน] การสนองพระราชดำรัส
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติประกาศให้ปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นปีเป้าหมายของการลดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้คำขวัญ “Biodiversity is life, Biodiversity is our life หรือความหลากหลายทางชีวภาพ คือชีวิต คือชีวิตของเราทุกคน” และสำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เห็นชอบให้ปี พ.ศ. 2553 เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อร่วมฉลองในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ ปี พ.ศ. 2553 เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อกระตุ้นให้ประชากรทุกกลุ่ม และทุกสาขาอาชีพ ตระหนักในคุณค่าความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และร่วมมืออนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมฉลองที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบการถวายสมัญญา “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ และเฉลิมพระเกียรติที่ได้ทรงมีพระเมตตาแก่สรรพชีวิต โดยมีพระราชดำริให้หลายหน่วยงาน ดำเนินโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ ให้คงอยู่ในประเทศไทยตลอดไป และโครงการเพื่อใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ยังผลสืบเนื่องให้ชุมชน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสอดคล้องปรองดองกับธรรมชาติและระดับความยากจน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 10 ระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด “มองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยผ่านโครงการและกิจกรรมตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจในฐานะทรงเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในเวทีโลก
พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมีมากมายครอบคลุมทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และทรัพยากรทางทะเล ทำให้เห็นว่าพระองค์ให้ความสำคัญกับงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและดำเนินงานก่อนที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจะถือกำเนิดขึ้น ในส่วนโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อาทิ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการป่ารักษ์น้ำ โครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ของไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องปรองดองและยัง สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เรื่องการขจัดความยากจนโดยการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
บูธนิทรรศการออกแบบและตกแต่ง เน้นการใช้โทน ขาว ฟ้า เขียว และวัสดุตกแต่งที่สื่อเอกลักษณ์ของไทย เช่น ผ้าไทย กรอบลายไทย ธงชาติ ธงปรมาภิไธย กล้วยไม้ และไม้ประดับต่างๆ
การนำเสนอนิทรรศการ ประกอบด้วย การดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยผ่านโครงการพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ดำเนินงานมาก่อนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ถือกำเนิด และกิจกรรมถ่ายภาพที่ระลึกแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
การจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการจะเป็นผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว ยังมีประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนนับหมื่นที่มีโอกาสได้รับทราบและชื่นชมผลงานโครงการตามพระราชดำริ ถือเป็นผลงานเทิดพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงภาพพจน์ของประเทศไทย

การจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2554 ณ จามจุรี สแควร์ สามย่าน กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย การจัดแสดงกล้วยไม้ไทย การประกวดพรรณพืช เพื่อการ ถัก ทอ ห่อ รัด มัด ร้อย การแข่งขันตอบคำถามและการยอวาที โดยในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคธุรกิจ จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทโตโยต้า มอร์เตอร์ ประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทเชฟรอนประเทศไทย สำรวจ และผลิต จำกัด และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมตลอดงาน อาทิ โครงการคืนช้างสู่ป่า คืนกล้วยไม้สู่ธรรมชาติ การอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล โครงการปะการังเทียม โครงการอนุรักษ์พรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีนิทรรศการผลงานด้านการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพตามแนวพระราชดำริของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตัวอย่างเช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำ “ปูราชินี” ซึ่งได้รับการตั้งชื่อ เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสเจริญพระชมมายุครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2535 มาโชว์ในงานนี้ด้วย
“ใต้ร่มพระบารมี คุ้มครองสรรพชีวิต” สผ. จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องในงานป่าเล็ก ในเมืองใหญ่ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วันที่ 15-19 สิงหาคม 2555 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ และหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เพื่อร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ให้เป็นฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตแก่พสกนิกรให้อยู่อย่างผาสุก ในฐานะมารดาของแผ่นดินเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาตลอดระยะเวลายาวนาน

นิทรรศการเทิดพระเกียรติในครั้งนี้จัดเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณให้ประชาชนได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพที่ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริหลากหลายโครงการ ล้วนมุ่งประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และรักษาสรรพชีวิต รวมทั้งความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกร ไม่ว่าจะเป็นในด้านการคุ้มครองพรรณไม้ ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล ระบบนิเวศ การอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยนั้น นับว่าอุดมสมบูรณ์ ไม่แพ้ชาติใดในโลก บรรพบุรุษได้รักษาและส่งมอบให้แก่ลูกหลานมาหลายชั่วอายุคน จึงเป็นหน้าที่ของคนรุ่นปัจจุบันที่จะสืบสาน อนุรักษ์ และปกป้องมิให้ลดน้อยลงหรือสูญสิ้นไป และส่งมอบให้เป็นฐานทรัพยากรแก่คนรุ่นถัดไป สมดังพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจที่ทรงประพฤติเป็นแบบอย่างไว้ให้ดำเนินตาม