ทีมวิจัยพบ “โคพีพอดน้ำจืด” 2 ชนิดใหม่ของโลก
ดร. กรอร วงษ์กําแหง ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมกับ ผศ.ดร.ศุจีภรณ์ อธิบาย จาก ม.ขอนแก่น และ ผศ.ดร.ชายฉัตร บุญญานุสิทธิ์ จาก มรภ.นครราชสีมา ค้นพบโคพีพอดน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกจำนวน 2 ชนิด โดย โคพีพอด เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มครัสเตเชีย (Crustacea) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำส่วนใหญ่มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-2.0 มิลลิเมตร มีความหลากชนิดสูง พบทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ล่า กลุ่มที่กินแพลงก์ ตอนพืชเป็นอาหาร มีความสำคัญคือเป็นอาหารหลักให้กับสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลา กุ้ง เป็นต้น มีทั้งกลุ่มที่อาศัยในน้ำจืดและน้ำเค็ม ได้ทั้งแหล่งน้ำถาวร แหล่งน้ำชั่วคราว แหล่งน้ำนิ่ง หรือน้ำไหล และในการค้นพบครั้งนี้ เป็นโคพีพอดน้ำจืดที่พบในแอ่งน้ำนิ่งในสระน้ำ และแหล่งน้ำขนาดเล็กในถ้ำ
ดร.กรอร กล่าวว่า สำหรับโคพีพอดที่ค้นพบ 2 ชนิด ได้แก่ 1.โคพีพอด ชนิด Metacyclops sakaeratensis sp. nov. พบที่แหล่งน้ำ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โคพีพอด ชนิดนี้ว่า sakaeratensis ตามถิ่นที่พบ คือพื้นที่สะแกราช 2.โคพีพอดถ้ำ ชนิด Metacyclops brancelji sp. nov. พบที่ถ้ำระฆังทองและถ้ำภูผาเพชร อ.มะนัง จ.สตูล และถ้ำเขานุ้ย จ.สงขลา โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ชนิดนี้ว่า brancelji เพื่อเป็นเกียรติแก่ Prof. Dr. Anton Brancelj ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาโคพีพอดของโลก จากประเทศสโลวีเนีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการศึกษาโคพีพอดถ้ำของประเทศไทย สำหรับงานวิจัยเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Taxonomy เมื่อเดือนมกราคมปี 2565
ที่มาของข้อมูล : https://www.thairath.co.th/news/local/2315365?fbclid=IwAR11W-10hTm5Bovut7K_u0oqDayUv4xbpgpf6P4MpMBU8hCjS61zNTYlnNA