Just another WordPress site

ค้นพบ “ยีสต์” สกุลและสปีชีส์ใหม่ของโลกในประเทศไทยจาก “ผิวใบสับปะรด”

ทีมวิจัยที่ค้นพบยีสต์สกุล (genus) และสปีชีส์ (species) ใหม่ของโลกจากผิวใบสับปะรด ประกอบด้วย ดร.ภูมิน นุตรทัต สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ดร.วนัชพร บุญธรรม สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิจัยภายใต้โครงการ “เหมืองข้อมูลและคลังทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร” โดยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ผ่านทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายการทำวิจัยของคณาจารย์ที่เป็นนักวิจัยรุ่นกลาง และรุ่นเยาว์ของสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 8 สถาบัน โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในประเทศไทย และการจัดทำฐานข้อมูลจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านการเกษตรและอาหาร

ดร.ภูมิน นุตรทัต สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หนึ่งในทีมวิจัยเปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของยีสต์ในประเทศไทย และการจัดทำฐานข้อมูลยีสต์ที่มีศักยภาพด้านการเกษตรและอาหาร โดยการสร้างเครือข่ายการทำวิจัยของคณาจารย์ที่เป็นนักวิจัยรุ่นกลาง และรุ่นเยาว์ของสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 8 สถาบัน โดยในส่วนของทีมวิจัยนี้รับผิดชอบในส่วนของการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของยีสต์บนผิวใบสับปะรด พร้อมกับการศึกษาหายีสต์ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญของพืช เนื่องจากสับปะรดเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย และคาดว่าน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยีสต์ที่มีคุณสมบัติในการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและอาหาร

โดยในระหว่างการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของยีสต์ในใบสับปะรดจากจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย ได้ค้นพบยีสต์สกุล (genus) และสปีชีส์ (species) ใหม่ โดยอาศัยระบบการจัดจำแนกแบบ polyphasic taxonomy (classical taxonomy และ molecular taxonomy) ปรากฏว่าไม่ตรงกับชนิดใดในโลก ต่อมาจึงได้ร่วมกันตีพิมพ์ประกาศให้เป็นยีสต์สกุล (genus) และชนิด (species) ใหม่ของประเทศไทย และของโลก ลงในวารสารนานาชาติ Journal of Fungi (https://doi.org/10.3390/jof8020118) สำหรับพื้นที่ที่ค้นพบคือ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง และได้ตั้งชื่อยีสต์สกุลใหม่ว่า Savitreella และชื่อสปีชีส์ใหม่ว่า Savitreella phatthalungensis และยีสต์สปีชีส์ใหม่อีกสปีชีส์ที่ค้นพบจาก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้ตั้งชื่อว่า Goffeauzyma siamensis สาเหตุที่ตั้งชื่อยีสต์สกุลใหม่ว่า Savitreella เพื่อให้เกียรติแด่ ศ.ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญยีสต์ ทั้งด้านอนุกรมวิธาน ความหลากหลาย และเทคโนโลยีชีวภาพยีสต์ในประเทศไทย ส่วน Goffeauzyma siamensis คณะวิจัยตั้งชื่อว่า siamensis เพราะคำว่า “Siam” เป็นชื่อเดิมของประเทศไทย เพื่อต้องการบ่งบอกว่ายีสต์สปีชีส์ใหม่นี้ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศไทย

สำหรับประโยชน์ต่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในโครงการวิจัยย่อยนี้ อยู่ระหว่างการนำทรัพยากรยีสต์ที่รวบรวมได้มาศึกษาประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญของพืชในด้านการควบคุมราก่อโรคพืช รวมถึงศึกษาความสามารถในการผลิตสารอินทรีย์ระเหยง่าย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดใช้สารเคมีทางการเกษตร และเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากแหล่งที่มา : https://mgronline.com/south/detail/9650000011756?fbclid=IwAR3GdpO5H7g2Bvz8qKIfT1qva4fnvu-sKTpbHiVdRDp6cM_iQVb4PrruZQI

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept

Privacy & Cookies Policy