สผ. จับมือพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องเมย์แฟร์ แกรนด์ บอลรูม ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำกรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผนึกกำลังร่วมกับ ภาคเอกชนและเครือข่าย จัดกิจกรรมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity” โดยได้รับเกียรติจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรม ซึ่งได้กล่าวถึงภารกิจสำคัญของกระทรวงในการตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ในแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ท้องถิ่นและประชาชน เกิดความตื่นตัว และให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพที่มีในพื้นที่ของตน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายของโลกต่อไป
อีกทั้งในการบรรยายพิเศษโดย ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. ในหัวข้อ “โลกขยับ ไทยปรับตัว : จาก Kunming-Montreal GBF สู่ยุทธศาสตร์การดําเนินงานของประเทศไทย” ได้เน้นย้ำถึงการตอบโจทย์ของประเทศไทย เพื่อไปสู่เป้าหมายของโลก เป้าหมายระดับชาติ (national targets) ภายใต้แผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566 – 2570 พร้อมกับการจัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว พ.ศ. 2567 – 2590 ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน ที่ต้องเชื่อมโยงภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนให้เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ประเทศวางไว้ โดยต้องนำเสียงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาปรับการดำเนินงาน อีกประเด็นคือการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายที่มีความเร่งด่วน มีความพร้อม มีความเป็นไปได้ และสร้างกลไกรองรับ ให้เกิดการแบ่งปันและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกันอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม IDB Talk หัวข้อ “บทบาทของภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมกับภารกิจ 2030 Mission ลดการสูญเสีย เพิ่มการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน” และการเสวนา ในหัวข้อ “OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย” และการจัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานจากหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักเรียนและนักศึกษาภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ รวมประมาณ 350 คน