Just another WordPress site

พืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก

รศ. ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ Prof. Dr. David M. Johnson
Biological Science Department, Ohio Wesleyan University, Delware, Ohio, U.S.A ดร.จิรัฐิ สัตถาพร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายสุเนตร การพันธ์ สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก
ในสกุลบุหงาเซิง (Friesodielsia Steenis) ของพืชวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 2 ชนิด ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ฐาน WOS
ระดับ Quartile 3 ชื่อวารสาร Phytotaxa ฉบับที่ 589 (1) ปี ค.ศ. 2023 โดยพืชสกุลบุหงาเซิง จำนวน 2 ชนิด
สำรวจพบจากป่าฮาลาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยรายงานเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก (New species) ได้แก่

1. บุหงาเซิงเบตงFriesodielsia betongensis Leerat.เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่นคือ มีดอกสีเหลือง โดยมีสีเขียวบริเวณโคนกลีบ
กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบเขา
อยู่ระดับความสูงเหนือระดับทะเล 1,000-1,200 เมตร พบออกดอกและผลช่วงเดือนพฤษภาคม
โดยที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์: เป็นการตั้งชื่อให้กับสถานที่ที่มีการค้นพบพืชชนิดนี้ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

2. บุหงาเซิงฮาลาFriesodielsia chalermgliniana Leerat. เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่นคือมีใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบดอกสีเหลือง มีกลีบดอกชั้นนอกที่มีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบชื้น อยู่เหนือความสูงเหนือระดับทะเลประมาณ 500 เมตร พบออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม
โดยที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์: เป็นการตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการศึกษาและวิจัยพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทย และเป็นผู้ให้ความรู้ นำออกภาคสนามในการสำรวจ และสนับสนุนให้ผู้แต่งท่านแรกในการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทย

สามารถศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://www.biotaxa.org/Phytotaxa/article/view/phytotaxa.589.1.7

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล https://www.psu.ac.th/?page=news&news_code=1323&fbclid=IwAR1HsJbA0bXaqk8F3FK4Lft5TOMmajFhtRiUNo0HAqtZ5vrCs3x-K3AhXas

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept

Privacy & Cookies Policy