“ก้อมอาจารย์น้อย” พืชชนิดใหม่ของโลก
วันที่ 21 สิงหาคม 2566 นักพฤกษศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกับภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ก้อมอาจารย์น้อย” Ehretia pranomiana Rueangs. & Suddee ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่โครงการนิเวศวิทยาและการกระจายของสังคมพืชดอยหัวหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นางสาวอนุสรา แก้วเหมือน
นายคุณานนต์ ดาวนุไร และนายสมราน สุดดี ได้ทำการแวะสำรวจพรรณพืชในเส้นทางแม่สอด-อุ้มผาง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 พบไม้พุ่มกึ่งเลื้อยในสกุลก้อม (Ehretia) ขึ้นบริเวณเขาหินปูน น้ำตกธารารักษ์ จึงได้ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญผู้รับผิดชอบวงศ์ก้อม (Ehretiaceae) สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย
รศ. ดร.กนกอร เรืองสว่าง แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อตรวจสอบ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ จึงได้ร่วมกันเขียนตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Nordic Journal of Botany ของเดนมาร์ก
ก้อมอาจารย์น้อย Ehretia pranomiana Rueangs. & Suddee วงศ์ Ehretiaceae คำระบุชนิด “pranomiana” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย
นักวิจัยอาวุโส อดีตอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญพืชหลายวงศ์และให้ความช่วยเหลือโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) มาอย่างต่อเนื่อง Ehretia pranomiana ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ NJB-2023: e04010
doi: 10.1111/njb.04010 วันที่ 18 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2023 จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข Thananthaisong et al. 716 เก็บจากบริเวณน้ำตกธารารักษ์
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (holotype: BKF; isotypes: K, KKU) ชื่อไทย “ก้อมอาจารย์น้อย” ตั้งตามชื่อเล่นของ ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มกึ่งพาดเลื้อย สูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี กว้าง 2.5-8 ซม. ยาว 4-13 ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม อาจเบี้ยวเล็กน้อย
ขอบจักฟันเลื่อยถึงหยักซึ่ฟันไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 3-7 เส้น ด้านบนนูนเล็กน้อย ด้านล่างนูนเด่นชัด ก้านใบยาว
0.5-2.5 ซม. มีขนสีขาวหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอดหรือบนกิ่งสั้นใกล้ปลายยอด ช่อยาว 2.5-6 ซม. แต่ละช่อมี 4-10 ดอก ก้านช่อดอกยาว
1.5-3.5 ซม. มีขนหนาแน่น ดอกสีขาว เกือบไร้ก้านหรือก้านดอกยาวได้ถึง 1 มม. กลีบเลี้ยงสีเขียว ยาว 5-7 มม โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึก
รูปแถบ 5 แฉก มีขนหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ขยายใหญ่และติดทนเมื่อเป็นผล กลีบดอกยาว 0.8-1 ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนาน 5 แฉก
ปลายมน ด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้ 5 เกสร แยกจากกันเป็นอิสระ ยาว 3-4 มม. ไม่โผล่พ้นหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ติดด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ทรงรูปไข่ มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว 5-7 มม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก เกลี้ยง ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลม
เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 มม. เกลี้ยง สุกสีเหลืองหรือส้ม เมล็ด 4 เมล็ด มีสันตามยาว 1 สัน นิเวศวิทยา ก้อมอาจารย์น้อยพบขี้นบริเวณป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย บริเวณจังหวัดตาก กาญจนบุรี และเพชรบุรี ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 400-700 เมตร
สามารถศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/njb.04010
ขอขอบคุณแหล่งที่มา เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
https://www.facebook.com/DNP1362/posts/625491413097229