“บึ้งประกายสายฟ้า” บึ้งชนิดใหม่ของโลก
ทีมวิจัย นำโดยของ ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ โจโฉ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง
และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นายปฏิภาณ ศรีรานันท์ และนายปวีณ ปิยะตระกูลชัย ได้ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาวิจัย นำมาสู่การค้นพบบึ้งที่สวยและดึงดูดความสนใจชนิดใหม่ของโลก
โดยบึ้งชนิดใหม่นี้ได้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 𝒏𝒂𝒕𝒂𝒏𝒊𝒄𝒉𝒂𝒓𝒖𝒎 มีชื่อทั่วไปภาษาไทยว่า “บึ้งประกายสายฟ้า” งานวิจัยถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ซึ่งถือได้ว่าบึ้งที่มีความงดงามระดับต้น ๆ ของโลก โดยชื่อวิทยาศาสตร์ของบึ้งชนิดนี้ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับ
คุณณฐกร แจ้งเร็ว และคุณนิชดา แจ้งเร็ว ผู้บริหารกลุ่มบริษัทนิชดาธานี ซึ่งเป็นผู้ประมูลเพื่อนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายในการสมทบทุนบริจาคช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทางการศึกษาบนดอยในโรงเรียนบ้านมูเซอและผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ ดังนั้นบึ้งชนิดนี้นอกจากเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์แล้วยังช่วยต่อลมหายใจของผู้คนและหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาในกับเด็กที่ห่างไกลความเจริญอีกด้วย
จากการศึกษาและสำรวจทีมวิจัยพบแหล่งที่อยู่อาศัยของบึ้งประกายสายฟ้า ที่จังหวัดพังงาในพื้นที่ป่าชายเลนไปจนถึงป่าไม่ผลัดใบในพื้นที่เนินเขา ซึ่งบึ้งประกายสายฟ้าถือได้ว่าเป็นบึ้งชนิดแรกของไทยที่พบในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 𝒏𝒂𝒕𝒂𝒏𝒊𝒄𝒉𝒂𝒓𝒖𝒎 จัดอยู่ในสกุล 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 ในวงศ์ย่อย Selenocosminae โดยที่มาของชื่อ “บึ้งประกายสายฟ้า” มาจากชื่อทั่วไปภาษาอังกฤษว่า “Electric-blue tarantula” ซึ่งเป็นลักษณะสีของบึ้งที่เมื่อสะท้อนกับแสงไฟแล้วมีประกายสีน้ำเงินคล้ายกับสีของ สายฟ้าสีน้ำเงิน ไม่เพียงเท่านั้นบึ้งชนิดนี้ยังปรากฏสีม่วงด้วย ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วสีน้ำเงินนับเป็นสีที่หายากในธรรมชาติ อันเนื่องมาจากสีน้ำเงินเป็นสีที่มีพลังงานสูง แต่ความลับของ “บึ้งประกายสายฟ้า” คือสีน้ำเงินที่เป็นประกายงดงามสลับกันบริเวณขาเกิดจากโครงสร้างระดับนาโนของเส้นขนบึ้ง ซึ่งมาจากการหักเหของแสงทำให้แสงสะท้อนพลังงานที่ในช่วงความถี่ของแสงสีน้ำเงิน โดยไม่ได้เกิดจากกลไกที่รงควัตถุดูดซับพลังงานเหมือนกับการเกิดสีของพืชหรือสัตว์ในธรรมชาติโดยทั่วไป นอกจากสีน้ำเงินแล้ว “บึ้งประกายสายฟ้า” ยังปรากฏสีม่วงในบางส่วนของร่างกายอีกด้วย ซึ่งสีม่วงเป็นสีที่มีพลังงานมากกว่าสีน้ำเงินและมีช่วงในสเปกตรัมแสงที่แคบมาก นับเป็นสีที่พบได้ยากที่สุดในสิ่งมีชีวิต
บึ้งในสกุลนี้มีรายงานการพบในประเทศไทยเพียง 2 ชนิดเท่านั้น “บึ้งประกายสายฟ้า” ถือได้ว่าเป็นชนิดที่ 3 จากการค้นพบในไทยครั้งล่าสุดเมื่อ 27 ปีที่แล้ว แต่ชนิดที่พบ
ในอดีตไม่ปรากฏความแวววาวของสีที่เป็นประกายเหมือนกับ “บึ้งประกายสายฟ้า” นับเป็นบึ้งที่มีความพิเศษลักษณะสวยงามและยังพบได้ในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงควรหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ป่า ให้บึ้งที่พบในป่าชายเลนตัวแรกและตัวเดียวของประเทศไทยในตอนนี้ หรือบึ้งที่ถือได้เป็นอัญมณีแห่งผืนป่ายังคงอยู่ต่อไปในอนาคต
สามารถศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://zookeys.pensoft.net/article/106278/
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล เพจ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Faculty of Agriculture
https://www.facebook.com/ag.kku.ac.th/posts/pfbid0Z9t6UY1utCCQP3Zw3kx72E7nfpPdVwpgGMU9dwcVLVmcqmERwsQzSXVS1sQ2oCCGl