Just another WordPress site

ระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล

ระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล เป็นบริเวณที่ประกอบด้วยกลุ่มของพืชดอกที่ปรับตัวเติบโตอยู่ได้ในทะเลและสามารถโตได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง โครงสร้างใบที่ซับซ้อนมีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่ง อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด สัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่นปลา กุ้ง ปู หอย ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเลบางชนิดและพะยูน เนื่องจากกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร

ลักษณะพื้นที่

ประเทศไทยมีการแพร่กระจายของหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่ง เนื่องจากหญ้าทะเลสามารถเติบโตได้ดีในบริเวณชายฝั่งน้ำตื้น เช่น แหล่งน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำ ชายฝั่งน้ำตื้นที่มีพื้นทรายหรือทรายปนโคลน หรือขึ้นปะปนกับแนวปะการัง โดยพื้นที่การแพร่กระจายของหญ้าทะเลสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ตลอด เนื่องจากหญ้าทะเลสามารถแพร่พันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ดังนั้นพื้นที่ที่เคยรายงานการพบหญ้าทะเล จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่หญ้าทะเลสามารถเจริญเติบโตได้

หญ้าทะเลพบตามชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ไม่พบหญ้าทะเลในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก เนื่องจากสภาพแวดล้อม ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโต แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ บริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง และมีแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันหลายพื้นที่ เช่น อ่าวทุ่งคา-สวี จังหวัดชุมพร อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี เกาะลิบง จังหวัดตรัง เกาะศรีบอยา-เกาะปู จังหวัดกระบี่ เกาะพระทองและพื้นที่ใกล้เคียง จังหวัดพังงา และบ้านป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต ใน พ.ศ. 2561 พบว่ามีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล รวมทั้งหมด 98,912 ไร่ ลดลงจาก พ.ศ. 2560 ที่มีอยู่รวม 100,236 ไร่ และพบแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ใหม่บริเวณเกาะช้าง จังหวัดระนอง และเกาะรังใหญ่ จังหวัดภูเก็ต

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

สังคมพืช

  • กลุ่มหญ้าทะเล ในประเทศไทยพบหญ้าทะเล ๑๓ ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata) หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata) หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) หญ้าเงาแคระหรือหญ้าใบพาย (Halophila beccarii) หญ้าเงาใส (Halophila decipiens) หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major) หญ้าเงาใบเล็ก (Halophila minor) หญ้าเงาหรือหญ้าใบมะกรูดหรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis) หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia) หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis) หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppia maritima) หญ้าต้นหอมทะเล (Syringodium isoetifolium) และหญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii) โดยหญ้าทะเลทางฝั่งทะเลอันดามัน พบ 12 ชนิด ชนิดที่ไม่พบ คือ หญ้าตะกานน้ำเค็ม ส่วนฝั่งอ่าวไทยพบหญ้าทะเล 12 ชนิดเช่นกัน ชนิดที่ไม่พบคือ หญ้าเงาใบใหญ่ โดยชนิดพันธุ์เด่นที่พบในประเทศไทยคือ หญ้าคาทะเล หญ้าเงาหรือหญ้าใบมะกรูดหรือหญ้าอำพัน และหญ้าเงาแคระหรือหญ้าใบพาย
  • กลุ่มสาหร่ายทะเล เช่น สาหร่ายกล้วยหอม (Neomeris sp.) สาหร่ายเห็ดหูหนู (Padina sp.) และสาหร่ายทุ่น (Sargassum sp.)

สังคมสัตว์

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

พบสัตว์หน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นดินบริเวณแหล่งหญ้าทะเลมากกว่า 95 ชนิด ได้แก่

  • กลุ่มฟองน้ำ เช่น ฟองน้ำชมพูกิ่งหนา (Callyspongia diffusa) เป็นต้น
  • กลุ่มครัสเตเชียน ได้แก่ กุ้ง พบไม่น้อยกว่า 24 ชนิด เช่น กุ้งเคย (Acetes sp., Sergestes sp.) กุ้งกุลาลาย (Penaeus semisulcatus) กุ้งตะกาดขาว (Metapenaeus moyebi) กุ้งดีดขัน (Alpheus sp.) เป็นต้น กั้ง เช่น กั้งทะเล (Oratosquilla nepa) เป็นต้น ปู เช่น
    ปูม้า (Portunus pelagicus) ปูดาว (Portunus sanguinolentus) ปูทะเล (Scylla serrata) ปูทหาร (Dotilla myctiroides) ปูหิน (Thalamita sp.) ปูเสฉวน (Diogenes sp.) เป็นต้น
  • กลุ่มมอลลัสกา ได้แก่ หอยฝาเดียว เช่น หอยชักตีน (Strombus canarium) หอยตะกาย (Natica sp.) เป็นต้น หอยสองฝา เช่น หอยคราง (Scapharca inaeguivalvis) หอยแครง (Anadara sp.)หอยกระจก (Placuna sp.) หอยจอบ (Pinna bicolor) หอยกระปุก (Gafrarium sp.) เป็นต้น และหมึก เช่น หมึกสาย (Octopodidae)
  • กลุ่มเอคไคโนเดิร์ม ได้แก่ เม่นทะเล เช่น เม่นแต่งตัวม่วงหนามขาว (Tripneustes gratilla) เป็นต้น ดาวทะเล เช่น ดาวทะเลเหลืองดำ (Pentaster obtusatus) เป็นต้น ปลิงทะเล เช่น ปลิงขาว (Holothuria scabra) เป็นต้น

สัตว์มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มปลา ปลาในแหล่งหญ้าทะเลบริเวณฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยพบปลาอย่างน้อย 67 ชนิด กลุ่มปลาที่พบมากที่สุดในแหล่งหญ้าทะเล ได้แก่ ครอบครัวปลาหมูสี (Lethrinidea) ครอบครัวปลาข้างตะเภา (Theraponidae) ครอบครัวปลากระพงข้างไฝ (Lutjanidae) กลุ่มปลาเศรษฐกิจที่พบอย่างน้อยมี 7 ชนิด ได้แก่ ปลากะรังดอกแดง (Epinephelus coioides) ปลาเห็ดโคน (Sillago maculata) ปลาหมูสี (Lethrinus lentjan) ปลาสีเสียด (Scomberoides lysan) ปลากระบอกหัวกลม (Valamugil cunnesius) ปลากระบอกหางฟ้า (Valamugil buchanani) ปลากระบอกดำ (Liza subviridis) และปลาไส้ตัน (Stolephorus spp.) ปลาบู่เกล็ดเล็ก (Oxyurichthys microlepis) ปลาข้างตะเภาลายเส้น (Pelates quadrilineatus) นอกจากนี้ ยังพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันระหว่างปลาในแหล่งหญ้าทะเลป่าชายเลนและแนวปะการังโดยพบว่าปลาหลายชนิดเป็นปลาที่อยู่ในแนวปะการังแต่มาอาศัยเลี้ยงตัวในแหล่งหญ้าทะเลและปลาหลายชนิดพบมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างป่าชายเลนบริเวณใกล้เคียง
  • กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่าตนุ (Chelonia mydas)
  • กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ พะยูน (Dugong dugon) พบอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลนอกเขตน้ำกร่อย และชอบอาศัยอยู่ตามชายฝั่งน้ำตื้นมากกว่าน้ำลึก หรือไม่เกิน 10 เมตร (โดยเฉลี่ยแล้วจะพบในความลึกประมาณ 3-5 เมตร) บริเวณที่ไม่ห่างไกลจากแหล่งหญ้าทะเลและเป็นที่ที่คลื่นลมไม่จัด บางครั้งอาจพบว่าเข้าไปในคลองน้ำกร่อยในป่าชายเลน

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

ชนิดพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) ได้แก่พะยูน เนื่องจากเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลและความหลากหลายของแนวหญ้าทะเล พฤติกรรมการกินของพะยูนช่วยให้เกิดความหลากหลายของชนิดหญ้าทะเลมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งมูลของพะยูนยังช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์และช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุสารอาหารในแนวหญ้าทะเล ดังนั้นการอนุรักษ์พะยูนจึงเป็นการช่วยรักษาสมดุลแก่ระบบนิเวศ

ชนิดพันธุ์ที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ได้แก่ พะยูน เนื่องจากพะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร โดยแหล่งหญ้าทะเลต้องมีความหนาแน่นและกว้างใหญ่เพียงพอ พะยูนจึงเป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี

ชนิดพันธุ์หายากหรือถูกคุกคาม (IUCN Red List) ได้แก่ ชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ พะยูน (Dugong dugon) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) และชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ได้แก่ หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii) เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่

  1. ใช้ประโยชน์ทางการประมงเพื่อใช้เป็นอาหาร เช่น ปลากระบอก ปลาเห็ดโคน ปลากระเบน หอยชักตีน ปูม้า กุ้งต่าง ๆ กุ้งเคย ปลิงทะเล
  2. เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค เช่น หญ้าคาทะเลหรือลำพันแดง ใช้ส่วนเหง้าช่วยขับโลหิตระดูสตรี  ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นท้อง
  3. เป็นอาหาร เช่น เมล็ดหญ้าคาทะเลและผลหญ้าชะเงาใบมนสามารถนำมารับประทานได้
  4. การท่องเที่ยวเพื่อดูพะยูนในแหล่งหญ้าทะเล

ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล ได้แก่

  • การพัฒนาชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นท้องทะเล เช่น การก่อสร้าง ที่ก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล โดยตะกอนดังกล่าวจะปกคลุมใบหญ้าและปิดกั้น การสังเคราะห์แสงของหญ้าทะเล การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเรือ เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่หญ้าทะเลถูกทำลายโดยตรง
  • การเดินเรือ และการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแหล่งหญ้าทะเล ทำให้ใบหญ้าทะเลถูกตัดขาด หน้าดินถูกคุ้ย เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในน้ำ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
  • การทำประมงบางประเภท เช่น คราดหอย เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน เรืออวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ ที่ทำการประมงในแหล่งหญ้าทะเล ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่แหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเล
  • น้ำเสียตามชายฝั่งทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ สะพานปลา โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านเรือน และการทำนากุ้ง ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
  • ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติอื่น ๆ ภาวะโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศ ใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย โดยอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงมากกว่าภาวะปกติของแหล่งหญ้าทะเลนั้น ๆ จะมีผลต่อวงจรชีวิตของหญ้าทะเล มีผลต่อการเจริญเติบโต การออกดอกและเมล็ดของหญ้าทะเลอีกทั้งความเครียดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ทำให้การกระจายตัวของหญ้าทะเลเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การโผล่พ้นน้ำทะเลนาน ๆ อุณหภูมิและแสงแดดที่เพิ่มขึ้นทำให้หญ้าแห้งความร้อนมีผลทำให้หญ้าตายได้ ส่วนเหตุการณ์
    สึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 นั้นได้ส่งผลกระทบต่อแนวหญ้าทะเลในฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร โดยแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ บริเวณบ้านทุ่งนางดำและด้านเหนือของเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ในบางพื้นที่พบว่าตะกอนที่ถูกกวนให้ฟุ้งกระจายและพัดพาไปตามแรงคลื่นมีผลทำให้หญ้าทะเลช้ำและกลายเป็นสีน้ำตาลและใบเน่าตายไปในเวลา 2-3 สัปดาห์ถัดมาในขณะที่การฟื้นตัวของแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน นอกจากนี้ ความรุนแรงจากพายุต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเลเช่นกัน เช่น พายุไซโคลนที่ทำให้หญ้าทะเลที่อ่าวเฮอร์วีในประเทศออสเตรเลียตายทั้งหมด หรือไต้ฝุ่นลินดาที่เกิดทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามทำให้แหล่งหญ้าทะเลที่เกาะคอนเดาเสียหายและมีการเปลี่ยนแหล่งหญ้าทะเลในเวลาต่อมา

การดำเนินงานที่ผ่านมา

การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลใช้แนวทางการจัดการแหล่งหญ้าทะเลแบบผสมผสาน โดยเน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งประกอบด้วย 4 แผนงาน ดังนี้

  1. สำรวจและประเมินสถานภาพ โดยติดตามตรวจสอบสถานภาพและปัญหาของแหล่งหญ้าทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเล เกี่ยวกับที่ตั้งและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลทั่วประเทศ ตลอดจนวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความเสื่อมโทรมว่ามีสาเหตุจากธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์ ข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้เพื่อรองรับการกำหนดแนวทางการจัดการและฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เหมาะสมกับสถานการณ์โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชุมชนและกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ความสำคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ รวมถึงกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมตามกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
  2. เผยแพร่ข่าวสารความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าทะเลสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักเกี่ยวกับลักษณะ ถิ่นอาศัย ประโยชน์ และปัจจัยที่มีผลกระทบทั้งในทางบวก และทางลบของหญ้าทะเล เพื่อหยุด/ลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสภาพแวดล้อมของคุณภาพน้ำและดินซึ่งมีผลถึงหญ้าทะเล ตลอดจนแนวทางป้องกันการเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์หญ้าทะเล โดยจัดทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ชาวประมง หรือผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นให้ทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของแหล่งหญ้าทะเล เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและตระหนัก รัก และหวงแหน ในที่สุดก้าวเข้ามามีบทบาท หรือมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเลของตนเอง
  3. การคุ้มครองและฟื้นฟู มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลให้กลับคืนมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเน้นการจัดการกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์แหล่งหญ้าทะเล การควบคุมการระบายน้ำเสีย สนับสนุนการลงทุนก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนหนาแน่นและบริเวณใกล้เคียง การควบคุมผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตามรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) จากการพัฒนาชายฝั่งและในทะเลรูปแบบต่าง ๆ บริเวณแหล่งหญ้าทะเล
  4. กำหนดขอบเขตแนวหญ้าทะเลด้านนอกชายฝั่งทะเลภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งของชุมชน โดยการวางทุ่นเป็นสัญลักษณ์แสดงพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล กวดขันผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือข้อบังคับ การห้ามใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม สนับสนุนองค์ความรู้ การจัดหาพันธุ์และวิธีการปลูกหญ้าทะเลทดแทนแก่องค์กรและประชาชนในท้องถิ่น และทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ เพื่อนำผลของการศึกษาวิจัยมาประกอบการพิจารณาสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรม คือ การป้องกันและลดผลกระทบต่อพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม โดยกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็นเขตรักษาพืชพันธุ์ และเขตอนุญาตสำหรับกิจกรรมประมงพื้นบ้าน และการฟื้นฟูโดยย้ายปลูกหญ้าทะเล

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept

Privacy & Cookies Policy