โครงการขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกน้ำอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ (2667)
รายละเอียดโครงการ

- ที่มาความสำคัญ
ปากแม่น้ำกระบี่ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ลำดับที่ 1,110 และเป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ตามโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกน้ำอพยพ และการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย (Partnership for the Conservation of Migratory Waterbirds and the Sustainable Use of their Habitats in the East Asian-Australasian Flyway หรือ East Asian-Australasian Flyway Partnership: EAFFP) เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ พบนกชายเลนทั้งหมด 27 ชนิด มี 25 ชนิด เป็นนกน้ำอพยพชนิดที่มีความสำคัญ เช่น นกหัวโตทรายเล็ก (Mongolian Plover) นกหัวโตทรายใหญ่ (Greater Sand Plover) นกหัวโตขาดำ (Kentish Plover) นกซ่อมทะเลอกแดง (Asian Dowitcher) นกน็อตใหญ่ (Great Knot) และนกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank) ซึ่งอยู่ในสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก และจากการที่จังหวัดกระบี่ได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 มีแหล่งท่องเที่ยว ถึง 52 แห่ง ส่งผลให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เมื่อพิจารณาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2562 พบว่า จำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจังหวัดกระบี่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross provincial product: GPP) มีมูลค่า 86,684 ล้านบาท โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดขึ้นอยู่กับการผลิตภาคการเกษตร มีมูลค่า 19,932 ล้านบาท (ร้อยละ 23) และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร มีมูลค่า 16,585 ล้านบาท (ร้อยละ 19.1) อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ยังมีข้อจำกัดในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจังหวัดกระบี่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักโดยปัญหาสำคัญของการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ได้แก่ ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมถูกบุกรุกทำลาย ขาดการบริหารจัดการขยะและน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้สามารถเอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และนกน้ำอพยพพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล จึงมีการผลักดันและขับเคลื่อนกลไก และมาตรการในการอนุรักษ์นกน้ำอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืน ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริม การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ - วัตถุประสงค์
เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์นกน้ำอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืนในพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ - ผลผลิตของโครงการ
มาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์ในการบริหารจัดการพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ที่สอดคล้องกับบริบทความต้องการของพื้นที่ - ที่ปรึกษา
บริษัท เทสโก้ จำกัด - พื้นที่ศึกษา
พื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ - ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567