“เปราะนภาวรรณ” พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก
เปราะนภาวรรณ (𝐾𝑎𝑒𝑚𝑝𝑓𝑒𝑟𝑖𝑎 𝑛𝑎𝑝𝑎𝑣𝑎𝑟𝑛𝑖𝑎𝑒 Saensouk, P.Saensouk & Boonma) เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สกุลเปราะ (Kaempferia) สกุลย่อยเปราะหอม (Kaempferia) พบครั้งแรกในป่าพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และมีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) และพืชหายาก (Rare species) ของประเทศไทย เนื่องจากไม่พบรายงานการกระจายพันธุ์ในประเทศอื่น ๆ
ลักษณะทางสัณฐานวิทยา “เปราะนภาวรรณ” เป็นพืชล้มลุก มีการพักตัวในช่วงฤดูหนาว มีลำต้นใต้ดินหรือเหง้ารูปทรงไข่ เหง้าเรียงต่อกันเป็นแถวเมื่อมีอายุหลายปี รากสะสมอาหารอยู่ใกล้กับเหง้า ใบรูปไข่จนถึงรูปเกือบกลมแผ่ราบขนานดิน ปกติจะมีสองใบตรงข้ามกัน บางครั้งอาจพบมีได้ถึงสามใบ ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น ฐานใบกลม ด้านบนของใบสีเขียวมีลายจุดสีเขียวเข้มมากจนถึงจุดสีดำ ช่อดอกเกิดอยู่ระหว่างกาบใบ ดอกสีขาว ดอกบานในระนาบเดียวกันขนานกับดิน คือ กลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน (staminodes) ไม่ตั้งขึ้น เมื่อบานจะอยู่ในระนาบเดียวกับกลีบปาก (labellum) และมีแต้มสีเหลืองอ่อนบริเวณโคนกลีบปาก ใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่ใช้รับประทานเป็นอาหารเหมือนกับบางชนิดในสกุลเดียวกัน พบออกดอกในช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค.
“เปราะนภาวรรณ” มีดอกสีขาวแต้มเหลืองที่กลีบปากและมีใบแผ่ราบกับดินคล้ายกับ เปราะป่า (Kaempferia roscoeana Wall.) แตกต่างกันตรงที่ “เปราะนภาวรรณ” มีกาบใบที่มีขน ใบมีลายจุด และผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ใบประดับมีขน กลีบเลี้ยงยาว 2.5-2.9 เซนติเมตร มีขนประปราย รยางค์อับเรณูรูปไข่กว้าง ประมาณ 5.5 x 5.0 มิลลิเมตร ต่อมน้ำหวาน (Epigynous glands) ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร
สามารถศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่
ㅤㅤ- https://smujo.id/biodiv/article/view/11446/6043?fbclid=IwAR3GbY05CQmc27XOLFBdNSRG9Vn-9xF66Gc8R-mTUn5QE9x8GvnOnm0nNXs
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว จาก สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส
ㅤ- https://www.thaipbs.or.th/now/content/616
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล เพจ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคามㅤ- https://www.facebook.com/WalaiRukhavej/posts/pfbid02iNJ6yUsnC3QhckELo3knFGuSdNRbGV2uH6L8a1WeSB432DpMWg4TuFGTzC5mQyL5l