“กระเจียวลินด์สตรอม” “ว่านเพชรม้าล้านนา” “ว่านเพชรม้าอีสาน” พืชสกุลกระเจียวแฝดสามชนิดใหม่ของโลก
นักวิจัยไทยสังกัดคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร และนักวิจัยอิสระ ร่วมกับนักวิจัยต่างชาติจากสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ได้ร่วมกันศึกษาทบทวนพืชสกุลกระเจียว
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มของว่านเพชรม้าประกอบด้วยกระเจียวหลายชนิด โดยในเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2565 คณะผู้วิจัยสามารถจำแนกว่านเพชรม้าชนิดแรกและได้ตีพิมพ์บทความทางวิชาการลงในวารสาร Garden’s Bulletin Singapore โดยตั้งชื่อพืชชนิดนี้ว่า กระเจียวลินด์สตรอม (Curcuma lindstromii Škorničk. & Soonthornk.) เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ นาย Anders J. Lindström ผู้รวบรวมและรักษาพรรณพืชอันดับขิง (Order Zingiberales) ที่สำคัญแห่งสวนนงนุช พัทยา
กระเจียวลินด์สตรอม เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 60 ซ.ม. ลำต้นใต้ดินรูปไข่ขนาดเล็กมีการแตกแขนงสั้นๆ 1-3 ซม. เนื้อด้านในลำต้นสีขาวครีม ใบรูปไข่หรือไข่กว้าง แผ่นใบพับจีบ ผิวใบมีขนทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกออกที่กึ่งกลางของลำต้น ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน มีลักษณะเด่นคือมีดอกมีสีเหลืองที่มีจุดสีน้ำตาลแดงเข้มแต้มที่ปลายกลีบปากและปลายสเตมิโนด (เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน) ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับสีแดง 20-40 ใบ กระเจียวลินด์สตรอมมีการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี สถานภาพของกระเจียวลินด์ตรอมจัดอยู่ในพืชกลุ่มที่มีมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable; VU) เนื่องจากประชากรในธรรมชาติมีจำนวนไม่มากและส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ จึงมีความเร่งด่วนในการอนุรักษ์
ในปีพ.ศ. 2566 คณะผู้วิจัยได้ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายวิจัย โดยร่วมกับนาย Anders J. Lindström แห่งสวนนงนุช พัทยา และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน แห่งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ในการศึกษากลุ่มของว่านเพชรม้าอย่างต่อเนื่อง และผลของการศึกษาอย่างละเอียด ทำให้สามารถจำแนกกระเจียวชนิดใหม่จากกลุ่มว่านเพชรม้าได้อีก 2 ชนิด และได้บรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสำรวจการกระจายพันธุ์ของกระเจียวทั้ง 2 ชนิด ภายใต้การนำโดย Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) อันดับหนึ่งของโลก และร่วมกันตีพิมพ์บทความลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Phytokeys โดยว่านเพชรม้าชนิดแรก ได้รับการตั้งชื่อว่า “ว่านเพชรม้าล้านนา” (Curcuma maxwellii Škorničk. & Suksathan) เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงคุณูปการของ ดร. James F. Maxwell อาจารย์และนักพฤกษศาสตร์ผู้อุทิศตัวในการศึกษาอนุกรรมวิธานพืชของประเทศไทยมากกว่า 40 ปีและเป็นภัณฑารักษ์ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พืช ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้เก็บตัวอย่างว่านเพชรม้าล้านนาในปีพ.ศ. 2535 อีกด้วย
ว่านเพชรม้าล้านนา เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 80 ซ.ม. ลำต้นใต้ดินรูปไข่ขนาดเล็ก เหง้าแขนงมีลักษณะผอม เนื้อด้านในลำต้นสีเหลือง ใบรูปไข่หรือไข่กว้าง แผ่นใบพับจีบ ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน มีลักษณะเด่นคือ ใบด้านไกลแกน (ท้องใบ) ไม่มีขน ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับ 15-34 ใบ มีสีเขียวอ่อนหรือสีแดงอ่อน มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบปาก สเตมิโนดและและอับเรณูมีสีเหลืองส้ม กลีบดอกมีสีแดง เกสรเพศผู้มีความยาว 16-18 มม. มียอดเกสรเพศผู้สั้นประมาณ 1 มม. ว่านเพชรม้าล้านนามีการกระจายพันธุ์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
ว่านเพชรม้าชนิดที่ 2 ได้รับการตั้งชื่อว่า “ว่านเพชรม้าอีสาน” (Curcuma rubroaurantiaca Škorničk. & Soonthornk.) มีการกระจายพันธุ์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยพบมากที่จังหวัดสกลนครและเลย นอกจากนี้ยังมีรายงานพบที่จังหวัดชัยภูมิและเพชรบูรณ์อีกด้วย ว่านเพชรม้าอีสานเป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 60 ซ.ม. ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน มีลักษณะคล้ายกับว่านเพชรม้าล้านนา แต่แตกต่างกันที่ใบด้านไกลแกน (ท้องใบ) มีขนละเอียดปกคลุมหนาแน่น ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับประมาณ 14 ใบ มีสีเขียวอ่อน สีขาวครีมหรือสีแดง ไม่มีใบประดับย่อย กลีบปาก สเตมิโนดและอับเรณูมีสีเหลืองส้ม กลีบดอกมีสีแดง เกสรเพศผู้มีความยาว 19-22 มม. มีสันอับเรณูมีความยาว 2-3 มม. มีร่องที่กึ่งกลางของสันอับเรณู และจากข้อมูลการสำรวจประชากรและการใช้ประโยชน์ของว่านเพชรม้าทั้ง 2 ชนิด พบว่ายังไม่มีการใช้ประโยชน์โดยคนท้องถิ่นทำให้มีแนวโน้มถูกคุกคามไม่มากนัก และประชากรในธรรมชาติจำนวนมากยังพบอยู่พื้นที่อนุรักษ์ ทำให้สามารถกำหนดสถานการอนุรักษ์เบื้องต้นได้ในที่ระดับความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (Least Concern; LC) อย่างไรก็ตามจากลักษณะของดอกที่มีสีสันสวยงามทำให้กระเจียวดังกล่าวมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นไม้ประดับได้
สามารถศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่
ㅤㅤ- https://www.nparks.gov.sg/…/gar…/listing-of-publications
doi: 10.26492/gbs74(2).2022-09
ㅤㅤ- https://phytokeys.pensoft.net/article/111400/list/18/
doi: 10.3897/phytokeys.235.111400
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล เพจ Kasetsart Universityㅤ- https://www.facebook.com/KasetsartUniversity/posts/pfbid0duo9LzKQB4NN1jVeTqBQzG3xhjp5ncFXrmmncz1Yyp9rRnPW3jJmhb4reHNSf6Ccl